นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยกับ Autolifethailand ว่ากรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยที่ผ่านมา ประธานบอร์ดอีวี เคยเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น นายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ผู้ที่มาเป็น ประธานบอร์ดอีวี จะเป็นใครและมีผลอย่างไรต่อการผลักดันนโยบายการสนับสนุนและการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) หรือไม่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามติของบอร์ดอีวีที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ยังดูมีทิศทางบวกและยังสามารถเดินหน้านโยบายต่อไปได้ ซึ่งยังไม่มาตรการจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรอการพิจาณาหรือการตัดสินใจจาก ประธานบอร์ดอีวี ยังสามารถรอคณะกรรมการชุดใหม่ได้และยังไม่น่าวิตกกังวลอะไรมากนักในประเด็นดังกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : BOI ออกมาตรการหนุนต่างชาติร่วมทุนไทย “ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์”
สำหรับ ภาพใหญ่ของแผนการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบอะไรมากเนื่องจาก บอร์ดอีวี มี คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างรัฐบาลกับนักลงทุน แต่สิ่งที่จะต้องจับตาคือ ห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่ก่อนหน้านี้มีการลงทุนจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนและมีการนำซัพพลายเออร์จากจีนเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งที่น่าน่าเป็นห่วงคือการสนับสนุนของรัฐบาลที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยทรานฟอร์มตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับคู่แข่งในตลาดและให้มีคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการของแบรนด์จีนได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
ขณะที่ การเจรจาระหว่าง ประเทศไทย กับ สหภาพยุโรป ด้าน ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งทางฟากฝั่งของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติยุโรป ยังเป็นปัจจัยที่มีความเป็นไปได้ในการลงทุนของผู้ประกอบการที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกจากประเทศไทยจากสิทธิประโยชน์ดังกล่าว นอกจากเหนือจากการสนับสนุนและข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-จีน
นอกจากนั้น กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง จะมีผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในประเทศไทยหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวยังอาจจะเร็วไปที่จะตอบต้องรอดูการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลหลังจากนี้ โดยหากพิจารณาจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ตั้งแต่ต้นปี 2567 ดัชนีปรับตัวลดลงมาโดยตลอด จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว, หนี้สาธารณะ, หนี้ครัวเรือน ซึ่งส่งผลต่อหนี้เสียและสะท้อนต่อภาพการใช้จ่ายของผู้บริโภคในตลาดรถยนต์
แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศโดยรวมของเศรษฐกิจในประเทศบ้าง แต่ไม่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชน เพราะการลงทุนของบริษัทเอกชนต่างประเทศมีแผนการลงทุนระยะยาวอยู่แล้วซึ่งการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นไม่กระทบต่อแผนการลงทุน
“เราผ่านความไม่แน่นอนทางการเมืองมาเยอะ และเป็นการเมืองแบบ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่ยังโชคดีที่เศรษฐกิจไทยเป็นแบบเรื่อย ๆ และโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ผูกพันกับรัฐบาลมากนัก ซึ่งแยกกันระหว่างภาคเศรษฐกิจและภาคการเมือง ซึ่งขอให้รัฐบาลอย่างเปลี่ยนแปลงนโยบายหลักของประเทศที่วางไว้และอยากให้เดินหน้านโยบายต่อระยะยาว”