“รถยนต์แห่งชาติ” ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดมีการถูกกล่าวถึงหลายต่อหลายครั้งและยาวนานแต่ไม่เคยเกิดขึ้นสักครั้ง ในขณะที่หากให้ยกตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดและคิดว่าน่าจะเป็นที่รู้จักของใครหลายคนคงจะต้องเป็นที่ มาเลเซีย กับแบรนด์ โปรตอน (PROTON) ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซียที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ซึ่งในยุคแรก แบรนด์รถยนต์แห่งชาติ ของมาเลเซีย ได้ใช้เทคโนโลยีและชิ้นส่วนของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (Mitsubishi Motors) ก่อให้กำเนิดรุ่นแรกภายใต้ชื่อ PROTON SAGA ในเดือน กันยายน ปีเดียวกัน
ที่หยิบยกตัวอย่างดังกล่าวขึ้นมาเนื่องจาก แบรนด์รถยนต์แห่งชาติ ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในเดือน พฤษภาคม 2568 โดย CHERY Automobile ภายใต้ความร่วมมือกับ บริษัท คิง เจน จำกัด (มหาชน) หรือ KGEN และ รัฐบาลไทย ภายใต้นโยบายการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนโยบายการสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศจาก กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคอาเซียน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ”แบรนด์รถไฟฟ้าแห่งชาติของไทย” จะเปิดตัวรถใหม่ 3 ตัวถัง โดย กระทรวงพาณิชย์ / CHERY / KING GEN / สวทช.
ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นพัฒนา “แบรนด์ EV แห่งชาติ” ส่งเสริมขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี EV ภายในประเทศ และสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยมุ่งเน้นการจำหน่ายในประเทศไทย โดยชูจุดเด่นด้านเทคโนโลยี EV และราคาที่เข้าถึงได้สำหรับผู้บริโภคไทยเพื่อสนับสนุนให้คนไทยสามารถเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ โครงการยังใช้ข้อได้เปรียบด้านภาษีในฐานะ “รถยนต์สัญชาติไทย” เพื่อสร้างระบบราคาที่เหมาะสม พร้อมกระตุ้นห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ ตั้งแต่การจัดหาชิ้นส่วน การจ้างงาน ไปจนถึงการพัฒนาเครือข่ายบริการหลังการขายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในทุกภูมิภาค
Autolifethailand ได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ “ฉี เจี๋ย” ประธาน บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) หรือ OMODA & JAECOO ถึงที่มาที่ไปของแนวคิดการทำ แบรนด์ EV แห่งชาติ ของประเทศไทย
จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้เกิดขึ้นโดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 ที่ “ฉี เจี๋ย” มีโอกาสเดินางมายังประเทศไทย และในเวลานั้นประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็น Detroit of Asia ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค
จากนั้น ได้มีโอกาสเดินทางกลับมาอีกครั้งในปี 2566 ในฐานะ ประธาน บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) ซึ่งได้มีโอกาสทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ของไทยหลายราย ซึ่งได้มองเห็นศักยภาพของการผลิตในประเทศไทยและระบบห่วงโซ่อุปทาน ที่มีคุณภาพสูงและครบถ้วนอย่างยิ่ง ประกอบกับหากเมื่อเปรียบเทียบรุ่นรถยนต์ในประเทศไทยที่มีเทคโนโลยีที่พัฒนาช้ากว่าในประเทศจีนที่มีในเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้น ศักยภาพของประเทศไทยด้านการผลิตที่เป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมองเห็นโอกาสดังกล่าว แต่ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยอาจจะยังขาดการวิจัยและพัฒนารวมถึงด้านการออกแบบ จึงมองเห็นโอกาสว่าที่ผ่านมายังไม่มีใครคิดเริเริ่มที่จะลงมือทำและเริ่มศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จ
ฉี เจี๋ย กล่าวต่อว่า แนวคิดในครั้งนี้ไม่ใช่การพัฒนาแค่ตัวรถหรือแบรนด์เท่านั้น แต่จะต้องมีการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้กับประเทศไทย
“แน่นอนว่าที่ผ่านมาเคยมีแนวคิดสำหรับการจัดทำ รถยนต์แห่งชาติ แต่อาจจะยังไม่เคยสำเร็จ”
สำหรับ CHERY Automobile ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ แต่บริษัทมีประวัติความเป็นมาในการก่อตั้งบริษัทนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) และถือเป็นแบรนด์รถยนต์แรก ๆ ในประเทศจีน ดังนั้นการผลิตรถยนต์จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบริษัทมีศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) กระจายอยู่ทั่วโลกจำนวน 5 แห่ง และยังมีโรงงานอีก 16 แห่งทั่วโลก รวมถึงมีการทำการตลาดในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ด้วยจำนวนโชว์รูม 3,200 แห่ง
ขณะเดียวกัน ประสบการณ์การทำ แบรนด์รถยนต์แห่งชาติ ของบริษัทไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทยเป็นที่แรก แต่บริษัทมีประสบการณ์ในการทำแบรนด์รถยนต์แห่งชาติ ในประเทศเทศสเปน ภายใต้แบรนด์ EBRO และ ในประเทศอิตาลี ภายใต้แบรนด์ DR จึงมั่นใจว่าความร่วมมือในประเทศไทยจะประสบความสำเร็จเช่นกัน
สำหรับแผนการเปิดตัว แบรนด์ EV แห่งชาติ ในประเทศไทย จะเปิดตัวรถยนต์ 3 เซกเมนท์ ด้วยกัน ได้แก่ รถตู้อเนกประสงค์ (MPV), รถกระบะ (Pickup) และ รถยนต์อเนกประสงค์ (SUV) โดยจะมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากกว่า 50%
ซี่งจะมีการแถลงข่าวและการเปิดตัวแบรนด์อย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2568 นี้ ซึ่งจะสามารถลงในรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน โดยเบื้องต้นจะมีการจัดตั้งบริษัท กิจการร่วมค้า หรือ บริษัทร่วมทุน (Joint Venture) กับพันธมิตรทุกภาคส่วน โดยในส่วนของภาคเอกชน CHERY Automobile และ KGEN ได้มีการเจรจาร่วมกันในระดับโลกแล้ว แต่ในส่วนของรัฐบาลไทยยังต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกระบวนการทางกฎหมายของประเทศไทยอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามรายละเอียดและรูปแบบความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้า Autolifethailand จะนำมารายงานให้ทุกท่านได้ทราบต่อไป