Leapmotor (ลีปมอเตอร์) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Stellantis ที่ได้มีการประกาศแต่งตั้ง บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด (PNA) ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 ตามที่ Autolifethailand ได้รายงานไปก่อนหน้านี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Stellantis ประกาศแต่งตั้ง “พระนครยนตรการ” เป็นตัวแทนจำหน่าย Leapmotor ในไทยอย่างเป็นทางการ
สิ่งที่ผู้บริโภคชาวไทยจับตาการแต่งตั้งในครั้งนี้คือ แบรนด์ดังกล่าวอยู่ภายใต้การบริหารงานของ “พระนครยนตรการ” ที่ผู้บริโภคต่างมีความเชื่อว่าก่อนหน้านี้แบรนด์ที่เคยผ่านมือ พระนครยนตรการ มาอย่าง Daihatsu, GM, FIAT, Alfa Romeo, Proton นั้นไปไม่รอด !!
Autolifethailand ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ธวัชชัย จึงสงวนพรสุข” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด ผู้นำเข้าและผู้แทนจำหน่าย (Distributor) รถยนต์ Leapmotor อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค รวมถึงแผนการดำเนินธุรกิจดิสทริบิวเตอร์แบรนด์ดังกล่าว
มีมุมมองอย่างไรที่ผู้บริโภคมอง “พระนครยนตรการ” ลอยแพลูกค้า ?
ต้องยอมรับเลยว่าในอดีตที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการสื่อสาร โดยการเป็นดิสทริบิวเตอร์ของแบรนด์ต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมา ที่เราทำไปถึงจุดหนึ่งมียอดขายสูงจนทำให้วันนึงบริษัทแม่ของแบรนด์นั้น ๆ เข้ามาทำตลาดด้วยตัวเอง บริษัทจึงลดบทบาทลงเป็น Mega Dealer บ้างเป็นผู้ร่วมทุนบ้าง
ต่อมา บริษัทแม่หลายรายก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบายในระดับโลกบ้าง ปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นบ้าง จึงได้มีการยกเลิกการทำการตลาดและเลิกทำแบรนด์ในประเทศไทยไป ซึ่งบริษัทเองก็ไม่เคยได้ทำการประชาสัมพันธ์สื่อสารถึงสาเหตุเหล่านี้ออกไป ทำให้ผู้บริโภคมีภาพจำในทางลบกับบริษัท
นอกจากนี้ ยังต้องยอมรับว่าการลบภาพจำดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องยากและอาจทำให้คนไม่เชื่อมั่น แต่เราขอชี้แจงว่า ทุกแบรนด์ที่บริษัทแม่เลิกทำแบรนด์ไปนั้น เรายังคงให้บริการหลังการขายให้กับทุกแบรนด์จนถึงที่สุด
ทำไมถึงเลือก Leapmotor มาทำตลาดในประเทศไทย ?
แม้ว่าตัวแบรนด์เองนั้นอาจจะไม่เป็นแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคย แต่หากกล่าวว่าเป็นแบรนด์ในเครือ Stellantis ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับต้น ๆ ของโลก และมีแบรนด์ภายใต้เครือนี้ที่ผู้บริโภคในไทยรู้จักคือ เปอโยต์ (Peugeot), จี๊ป (Jeep), มาเซราติ (Maserati) และอื่น ๆ อีกมาก
ซึ่ง Lลีปมอเตอร์ เป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงที่แตกต่างจากแบรนด์จีน ด้วยการพัฒนาบนแพลตฟอร์มเฉพาะตัว พร้อมระบบความปลอดภัยมาตรฐานยุโรป โดยช่วงล่างปรับจูนโดย มาเซราติ ดังนั้นฟีลลิ่งการขับขี่จะไม่เหมือนกับรถแบรนด์จีน แต่จะฟีลลิ่งไปในทิศทางแบรนด์ยุโรปมากกว่า
สำหรับแบรนด์นี้เป็นผลิตภัณฑ์ในเครือ Stellantis ที่มีคุณภาพสูงและผลิตจำหน่ายทั่วโลก (World Car) และมีโอกาสพัฒนาบนแพลตฟอร์มร่วมกันกับแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือ
แผนดำเนินธุรกิจของ ลีปมอเตอร์ ในประเทศไทย เป็นอย่างไร ?
บริษัทมีแผนการแต่งตั้งผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) จำนวน 12 ราย แบ่งเป็นต่างจังหวัด 5 ราย และ กทม. 7 ราย พร้อมทั้งจะตั้ง แฟลกชิปสโตร์ (Flagship Store) ซึ่งจะตั้งอยู่ย่านรัชโยธิน ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 20-30 ล้านบาท อีกทั้งมีแผนที่จะใช้งบประมานราว 100-150 ล้านบาทในการสร้างแบรนด์และทำการตลาด
รวมถึงจะมีการเปิดตัวรถยนต์จำนวน 1 รุ่น ได้แก่ Leapmotor C10 รถยนต์อเนกประสงค์ (SUV) พลังงานไฟฟ้า 100% ในช่วงงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป 2024 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน พฤศจิกายน นี้ และตั้งเป้ายอดขาย 1,500-2,000 คัน/โมเดล/ปี ขณะเดียวกัน มีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่างน้อย 1 รุ่น/ปี
ดีลเลอร์รูปแบบใหม่ขายรถยนต์ ในเครือ Stellantis ได้ทุกแบรนด์
บริษัทมีสิทธิ์ในการแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ Leapmotor โดยจะมี Stellantis Thailand เป็นผู้อนุมัติร่วมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนของขอบเขตการจำหน่าย เนื่องจากดีลเลอร์ในเครือ Stellantis หลังจากนี้ในประเทศไทยจะสามารถจำหน่ายรถยนต์ในเครือได้ทุกแบรนด์ ซึ่งจะเป็นรูปที่ส่งผลให้ดีลเลอร์แข็งแกร่งมาก โดยดีลเลอร์สามารถซื้อรถยนต์ในเครือ Stellantis ได้กับดิสทริบิวเตอร์ที่ได้รับสิทธิ์การจำหน่ายรายต่าง ๆ ซึ่งต้องติดตั้งโลโก้แบรนด์ที่จะจำหน่ายที่โชว์รูม
“เชื่อว่า Stellantis จะแนะนำแบรนด์ใหม่ ๆ ในเครือลงสู่ตลาดในประเทศไทย ด้วยรูปแบบการแต่งตั้งดิสทริบิวเตอร์ และการให้ดีลเลอร์สามารถขายได้ทุกแบรนด์ในเครือจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของดีลเลอร์ที่เข้ามาร่วมทำธุรกิจ”
นายธวัชชัย กล่าวว่า ปัจจุบัน พระนครยนตรการ มีบริษัทในเครือ อาทิ ธุรกิจรถเช่า, โรงงานประกอบรถยนต์, ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) รถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ ได้แก่ อีซูซุ, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, วอลโว่, เกรท วอล มอเตอร์, ฟอร์ด, มาสด้า, โอโอด้า แอนด์ เจคู ซึ่งมีจำนวนโชว์รูมรวมกว่า 10 แห่ง
ทั้งนี้ ยอดขายเฉลี่ยของ พระนครยนตรการ อยู่ที่ราว 2 หมื่นคัน/ปี ซึ่งในปี 2567 คาดว่าจะลดลงราว 30% สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดและเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งปัจจัยหลักมาจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจุบันการแข่งขันของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยโดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีเซกเมนต์ที่ยังไม่หลากหลาย และมองว่าในอนาคตอาจมีหลายแบรนด์ที่ “ไปไม่รอด” และอาจจะต้องปิดตัวลงไป คล้ายกับประเทศจีนที่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแบรนด์ที่จะอยู่ได้จะต้องแข็งแรงในด้านผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสถานะทางการเงินจะต้องแข็งแรงถึงจะอยู่รอด