นายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย (Ford) เปิดเผยภายในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 หรือ มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 (Motor Expo 2024) ว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปี 2567 คาดว่าจะปิดตัวเลขที่ 5.67 แสนคัน ลดลงราว 26% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ตลาดปิดตัวเลขไปได้ราว 4.7 แสนคัน ซึ่งปัจจุบันหลักมาจากตลาดรถกระบะที่หดตัวลงอย่างรุนแรง
สำหรับ ยอดจำหน่ายของ Ford 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 17,447 คัน และทั้งปีนี้คาดว่าจะปิดตัวเลขยอดจำหน่ายได้ 2.1 หมื่นคัน ซึ่งลดลงมากกว่าตลาดแน่นอน ด้วยผลิตภัณฑ์หลักของบริษัททั้ง รถกระบะ และ พีพีวี อยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาภาวะเศรษฐกิจ และการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ที่มีความเข้มงวดสูงส่งผลให้หนี้ครัวเรือนจาก 96% ลดลงเหลือราว 80% ซึ่งจะเริ่มส่งผลดีต่อการอนุมัติสินเชื่อหลังจากนี้ ส่วนการจัดงาน Motor Expo 2024 เชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์เดือนธันวาคมให้อยู่ในระดับ 5.8-5.9 หมื่นคันได้ จากเดือนตุลาคม อยู่ที่ 3.7 หมื่นคัน
ขณะที่ แนวคิดในการออกมาตรการ “รถเก่าแลกรถใหม่” มองว่าจะเป็นส่วนกระตุ้นตลาดได้แต่ต้องดูในรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนด้านนโยบายการพักชำระหนี้สำหรับรถยนต์ที่ไม่เกิน 8 แสนบาท ก็คงจะทำให้หนี้เสียลดลงและส่งผลดีต่อการอนุมัติสินเชื่อในอนาคต ซึ่งถ้าหากมาตรการดังกล่าวเริ่มในช่วงต้นปี 2568 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 ก็จะเริ่มคลี่คลาย
ปัญหาของรถกระบะในเวลานี้เกิดจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งหากรัฐบาลต้องการกระตุ้นหรือแก้ไขปัญหาในกลุ่มรถกระบะ การซื้อรถยนต์แล้วนำไปลดภาษีนิติบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการใช้รถยนต์เพื่อประกอบธุรกิจจริง ๆ อย่าง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
“ปกติตลาดรถกระบะมียอดจำหน่ายเฉลี่ยราว 2.5 หมื่นคัน/เดือน แต่ในปีนี้โดยเฉพาะในเดือน ตุลาคม 2567 ตลาดรถกระบะมียอดจำหน่ายอยู่ที่ราว 1 หมื่นคัน ดังนั้นมองว่าถ้าต้องการพยุงตลาดรถยนต์ในภาพรวมการช่วยรถกระบะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันให้ผู้ที่ต้องการออกรถเพื่อทำธุรกิจออกรถได้เพื่อให้ยอดขายและเศรษฐกิจกลับมา”
ส่วนในปี 2568 Ford มองว่ายอดตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจะอยู่ที่ 6 แสนคัน จากปัจจัยหนี้เสียและหนี้ครัวเรือนจะเริ่มลดลง ทำให้สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อได้ดีขึ้น รวมถึง อัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตามที่สถาบันการเงินหลายแห่งคาดการร์จะมีอัตราเติบโตในระดับ 5%
ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อให้ผู้ที่มีความต้องการใช้รถเพื่อประกอบธุรกิจจริง ๆ สามารถออกรถได้และไม่เป็นหนี้เกินความจำเป็นเพื่อให้ตลาดนั้นเดินต่อไป
นายรัฐการ กล่าวว่า เครือข่ายผู้แทนจำหน่ายในปัจจุบันของ ฟอร์ด มีจำนวนอยู่ที่ 148 แห่ง จากที่ผ่านมาอยู่ที่ 169 แห่ง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ศูนย์จำหน่ายและบริการของบริษัท ลดลงเหลือ 28 แห่ง จาก ที่ผ่านมาอยู่ที่ 48 แห่ง แต่การลดลงนั้น ยังคงอยู่ในประมาณที่เหมาะสมกับยอดขายในอนาคต เนื่องจากโมเดลธุรกิจการขายนั้นเปลี่ยนไป โดย ฟอร์ด ได้คำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้บริโภคและความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์)
แม้ว่าจำนวนศูนย์จำหน่ายและบริการจะลดลงแต่ ฟอร์ด ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า ถ้าลูกค้าต้องนำรถยนต์เข้ารับบริการที่ศูนย์บริการจะใช้ระยะเวลาเดินทางไม่เกิน 30 นาที รวมถึงยังมี รถบริการเคลื่อนที่ (โมบายล์เซอร์วิส) จำนวน 112 คันทั่วประเทศ พร้อมช่างผู้เชี่ยวชาญ จึงมั่นใจในการให้บริการที่ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคอยู่
ด้านการตลาดปัจจุบันก็เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่จากผลศึกษาพบว่า ลูกค้าพิจารณาจากงบประมาณเป็นหลักมากกว่าประเภทรถที่ลูกค้าต้องการ อาทิ ลูกค้าตั้งงบประมาณไว้ 1.2 ล้านบาท แล้วดูว่ามีรถคันไหนบ้างที่อยู่ในงบประมาณนี้แล้วคุ้มค่าที่สุด ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของ ฟอร์ด ที่จะขยายกลุ่มลูกค้าและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มค่าสู่ผู้บริโภค และนอกจากนั้นการค้นหาของลูกค้ายังค้าหาไปทุกแบรนด์ภายใต้งบประมาณที่กำหนด ซึ่งเรามองโอกาสในการทำการตลาดกับลูกค้าใหม่ ๆ และ รักษาฐานลูกค้าปัจจุบันไปพร้อม ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจะมียอดจำหน่ายต่ำสุดในรอบ 15 ปี แต่ฟอร์ดมองการดำเนินธุรกิจในระยะยาวโดยเฉพาะการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนระหว่างการจำหน่ายในประเทศกับการส่งออกอยู่ที่ 15% ต่อ 85% ตามลำดับ ดังนั้นยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ
ขณะเดียวกัน การที่มีรถกระบะพลังงานทางเลือกเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น Ford ยอมรับว่าเราได้ติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเทคโนโลยีรถกระบะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบ แต่ยังมองว่าผู้ที่ต้องการซื้อรถกระบะไฟฟ้ายังเป็นกลุ่ม Early Adpoter และเจาะจงไปยังกลุ่มรถกระบะ Life Style ที่มีราคาสูง แต่พฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้บริโกภคกลุ่มรถกระบะส่วนใหญ่ ยังให้น้ำหนักกับความสำคัญของ ระยะทางการวิ่งต่อการชาร์จ 1 ครั้ง, ปริมาณน้ำหนักบรรทุก และ ความสะดวกสบายในการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน ถ้าใครที่สามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านั้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเชื่อว่าลูกค้าจะตอบรับในกลุ่มรถกระบะไฟฟ้า
ฟอร์ด ได้ทำการศึกษาเรื่อง เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ซึ่งในปีนี้-ปีหน้ายังไม่มี แต่ในต่างประเทศเรามีทั้งเทคโนโลยีไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริด แต่ในประเทศไทยการนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดด้านภาษี ซึ่งทำให้การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์และราคาที่เหมาะสมยังเป็นที่ต้องพิจารณา