เปิดศักราชใหม่ 2568 ด้วยการคาดการณ์ตลาด รถยนต์ไฟฟ้า 100% (EV) รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์รวมในประเทศไทย ทั้งปัจจัยบวก และปัจจัยลบ ที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมในประเทศไทย ของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดย “กฤษฎา อุตตโมทย์” ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับ Autolifethailand ว่า ในปี 2568 นี้ ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่เห็นทิศทางบวกเท่าไรนัก จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่สถาบันการเงินหลายแห่งคาดการณ์ว่าจะอัตราเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตอยู่ที่ราว 3%
นอกจากนั้น อีกปัจจัยหนึ่งคือ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 มีมติไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นการส่งสัญญาณการเตรียมใช้เป็นเครื่องมือในปี 2568 ซึ่งเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุป 5 เหตุการณ์แห่งปี ! ใน “อุตสาหกรรมยานยนต์” ประเทศไทย ปี 2567
ขณะเดียวกัน นโยบายการกระตุ้นของรัฐบาลให้ประชามีรายได้มากขึ้นนั้นยังไม่ชัดเจน รวมถึงยังไม่มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเป็นความกังวลระยะยาว จึงเป็นห่วงการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อาจจะไม่อยู่ในอันดับที่ดีเท่าไรนักทั้ง ภาคการผลิต และ ภาคการเกษตร จากปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568
อีกทั้ง ปัจจัยด้านการแข่งขันของตลาดรถยนต์ในปี 2567 ทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดความกังวลและสร้างความไม่เชื่อมั่นสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากทุกคนไม่เคยเจอการปรับราคาลงที่รวดเร็วเช่นนี้ จึงอาจส่งผลให้ผู้บริโภครอความมีเสถียรภาพของราคาก่อน
รวมถึง จากผลวิจัยพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์และการครอบครองรถยนต์ของผู้บริโภคในประเทศไทย ที่นานขึ้นจาก 6-10 ปี เป็น 11-15 ปี จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวเป็นผลต่อการซื้อรถยนต์คันใหม่ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ตลาดรถยนต์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
ดังนั้นเอง จึงมองว่าตัวเลขของตลาดรถยนต์ในภาพรวมทั้งประเทศไทยอาจจะไม่ได้สูงกว่าปี 2567 จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น รวมถึงปัจจัยด้านสถานการณ์ราคารถยนต์ใช้แล้ว (รถยนต์มือสอง) และการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ที่ยังไม่มีสัญญาณบวกและความชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก
ด้าน ตลาด รถยนต์ไฟฟ้า 100% ก็เช่นเดียวกันมีปัจจัยที่ท้าทายของตลาดส่งผลให้ในปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดไม่สามารถขยายตัวไปถึง 1 แสนคัน ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ได้ ส่วนในปี 2568 ตามที่เคยมีการตั้งเป้าตัวเลขยอดจดทะเบียนของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 2564 ว่าจะมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 2 แสนคัน ในปี 2568 จึงมองว่าจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวนั้นได้ยากจากไม่มีปัจจัยบวกสนับสนุน รวมถึงการบังคับใช้เรื่องการปล่อยมลพิษ (ไอเสีย) ของประเทศไทย ยังไม่ชัดเจน
สำหรับแนวทางสำหรับผู้ประกอบการเชื่อว่าหลายฝ่ายมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2567 ถึงวิธีการปรับลดต้นทุนเพื่อรักษาสถานการณ์รอการกลับมาเติบโตของตลาด และการขยายประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการปรับตัว
“ปี 2568 ถือเป็นปีที่ท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์อีกปี ดังนั้นการแข่งขันด้านต้นทุนการบริการจัดการให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ”