จากเหตุโศกนาฏกรรมไฟไหม้ “รถบัสทัศนศึกษา” ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนอายุน้อยและครูประจำรถ สร้างความโศกเศร้าเสียใจแก่ครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องรวมถึงถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่ง Autolifethailand ต้องขอแสดงความเสียใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้อย่างสุดซึ้ง เรื่องราวของเหตุการณ์ดังกล่าวขอนุญาติไม่ลงรายละเอียดถึงสาเหตุหรือปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราหยิบยกมานำเสนอคือ “มาตรฐานความปลอดภัยของ รถบัส รถโดยสาร สาธารณะ” ในประเทศไทย ซึ่งก่อนอื่นเลย รถสองชั้นปรับอากาศ นั้นมีชื่อทางกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก “รถโดยสารมาตรฐาน 4” แบ่งออกเป็น 5 ประเภทด้วยกันดังนี้
มาตรฐาน 4 (ก) : รถสองชั้นปรับอากาศพิเศษ ซึ่งมีรูปแบบและการจัดวางที่นั่งของผู้โดยสารที่ให้ความสะดวกสบาย ไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ ระยะห่างระหว่างเบาะไม่น้อยกว่า 90 ซม. จัดที่นั่งแถวละไม่เกิน 3 ที่นั่ง
มาตรฐาน 4 (ข) : รถสองชั้นปรับอากาศ ไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ ระยะห่างระหว่างเบาะไม่น้อยกว่า 75 ซม.
มาตรฐาน 4 (ค) : รถสองชั้นปรับอากาศ ไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ แต่ไม่มีห้องสุขภัณฑ์ ส่วนที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้
มาตรฐาน 4 (ง) : รถสองชั้นปรับอากาศ ซึ่งชั้นล่างกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ สำหรับที่เก็บสัมภาระและอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้
มาตรฐาน 4 (จ) : รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งตั้งแต่ 13 – 24 ที่นั่ง มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือด้านท้ายของรถ จะกำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืนหรือไม่ก็ได้ และจะมีที่เก็บสัมภาระด้วยหรือไม่ก็ได้
มาตรฐาน 4 (ฉ) : รถสองชั้นที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีที่เก็บสัมภาระ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์
นอกจากนั้น มีการกำหนดขนาดมิติตัวถัง กว้างxยาวxสูง ไม่เกิน 2.55x12x4 เมตร และต้องมีประตูทางขึ้น–ลง ชั้นล่าง อย่างน้อย 1 ประตู ไม่เกิน 2 ประตู และมีประตูฉุกเฉินชั้นบนอย่างน้อย 1 ประตู, มีประตูฉุกเฉินชั้นล่างอย่างน้อย 1 ประตู, ความสูงภายในต้องไม่น้อยกว่า 1.60 เมตร หรือสูง น้อยกว่า 1.60 เมตร ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร
ขณะที่ กรมการขนส่งทางบก ได้ระบุ ข้อกำหนดด้าน สภาพ, เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของ รถโดยสารมาตรฐาน 4 อาทิ
คัสซี : ต้องเป็นคัสซีรถโดยสาร ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ
โครงคัสซี : ทำด้วยโลหะ แข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังรถแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ
ตัวถัง : ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง ไม่มีส่วนยื่นที่แหลม หรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย
ค้อนทุบกระจก : มีค้อนทุบกระจกอย่างน้อย 2 อัน ติดตั้งอย่างปลอดภัยที่ด้านซ้าย และด้านขวาของตัวรถใกล้บานกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร
หลังคา : ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้
ประตูทางขึ้น–ลง และ ประตูฉุกเฉิน : ประตูทางขึ้นลง มีอย่างน้อย 1 ประตูแต่ไม่เกิน 2 ประตู ความกว้าง ไม่น้อยกว่า 65 เซนติเมตร ความสูงไม่น้อยกว่า 165 เซนติเมตร อยู่ที่ด้านซ้ายของตัวรถ บันไดทางขึ้นลงมีความสูงของพื้น บันไดขั้นต่ำสุดในขณะรถเปล่าต้องอยู่สูงจากผิวทางไม่เกิน 45 เซนติเมตร กรณีบานประตูทางขึ้นลงที่ใช้กลไกควบคุมการปิด–เปิด โดยอัตโนมัติต้องมีระบบการทำงานของประตูที่สามารถควบคุมให้ บานประตูที่กำลังปิด หากกระทบถูกผู้โดยสารหรือสิ่งกีดขวาง บาน ประตูต้องเปิดออกโดยอัตโนมัติหรือหากบานประตูหนีบส่วนหนึ่ง ส่วนใดของร่างกาย ต้องสามารถดึงออกได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย แก่ผู้โดยสาร หรือมีระบบการทำงานอื่นที่มีความปลอดภัยสำหรับ ผู้โดยสารตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ต้องมี สัญญาณไฟกระพริบสีแดงพร้อมทั้ง สัญญาณเสียงเตือนแสดงการปิด เปิดของบานประตูบริเวณประตูทางขึ้น–ลงภายในตัวรถและบริเวณที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นอีกทั้งต้องมีอุปกรณ์ที่สามารถทำให้บานประตูเปิดออกได้ทั้งจากภายในและภายนอกตัวรถ
ประตูฉุกเฉิน มีอย่างน้อย 1 ประตูความกว้างไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร ความสูงไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร อยู่ที่ด้านขวา ของห้องโดยสารบริเวณกลางตัวรถหรือค่อนไปทางท้ายรถหรือด้าน ท้ายรถ ประตูฉุกเฉินต้องเปิดออกได้ทั้งจากภายในและภายนอกโดย ไม่ต้องใช้กุญแจหรือเครื่องมืออื่นใด โดยบานประตูต้องเปิดออกได้ เต็มความกว้าง และส่วนสูง และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางทางออกประตู มีเครื่องหมายข้อความว่า “ประตูฉุกเฉิน” พร้อมคำอธิบายหรือ สัญลักษณ์แสดงวิธีเปิดปิดเป็นภาษาไทยทั้งด้านในและด้านนอกตัวรถ ตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน และต้องติดป้ายโคมไฟบนพื้นสีขาวที่มี ตัวอักษรคำว่า “EXIT” สีแดง มีความสูงไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร เหนือบานประตูซึ่งต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟหน้ารถ
ตัวอักษรภาพหรือเครื่องหมาย : ประเภทการขนส่งประจำทาง จัดทำเครื่องหมาย หมายเลขข้างรถ ชื่อเส้นทางและสีต้องเป็นไป ตามเงื่อนไขประกอบการ
ประเภทการขนส่งไม่ประจำทาง – เครื่องหมายและสีต้องเป็นไปตามเงื่อนไขประกอบการ – ต้องไม่ใช้สีรถในลักษณะเช่นเดียวกัน หรือคล้ายกับสีรถโดยสาร ที่ใช้ในการประกอบการขนส่งประจำทาง หมวด 2 ของบริษัท ขนส่ง จำกัด – มีข้อความ “รถรับจ้างไม่ประจำทาง” มีความสูงไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ที่ตัวถังด้านนอกข้างซ้ายใกล้ประตูขึ้น–ลง – มีชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งเป็นตัวอักษร ภาษาไทยมีความสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร ไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้ง สองข้าง และมีชื่อผู้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พร้อมหมายเลข โทรศัพท์ไว้ที่ด้านหลังรถมีความสูงไม่น้อย กว่า 10 เซนติเมตร
ประเภทการขนส่งส่วนบุคคล สีของตัวรถต้องไม่เป็นไปในลักษณะของรถประจำทาง กรณีผู้ประกอบการขนส่งระบุเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏ ประจำรถต้องมีเครื่องหมายดังกล่าวและชื่อผู้ประกอบการขนส่งหรือ ชื่อธุรกิจของผู้ประกอบการขนส่งเป็นตัวอักษรภาษาไทยกำกับอยู่ด้วย กรณีผู้ประกอบการขนส่งไม่ระบุเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏ ประจำรถ ต้องจัดทำข้อความตัวอักษรภาษาไทยมีความสูงไม่น้อย กว่า 20 เซนติเมตร ไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้างดังนี้ – นิติบุคคล ให้กำหนดชื่อนิติบุคคลนั้นเป็นเครื่องหมาย – บุคลธรรมดา แต่มีธุรกิจที่มีชื่อเรียกได้ให้กำหนดชื่อนั้นเป็น เครื่องหมาย – บุคคลธรรมดาที่ไม่ประสงค์จะใช้ชื่อและชื่อสกุลของตนเองเป็น เครื่องหมายหรือมีธุรกิจการค้าแต่ไม่มีชื่อที่เรียกได้ให้ใช้ข้อความ “รถโดยสารส่วนบุคคล”เป็นเครื่องหมาย รถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต้องติดเครื่องหมายดังนี้ – รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงติดเครื่องหมาย “CNGรถ ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด” ด้านท้ายรถ – รถที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงต้องติดเครื่องหมาย “รถใช้ก๊าซ LPG” ด้านท้ายรถ รูปภาพประจำรถหรือรูปภาพเพื่อการโฆษณาต้องมีขนาด ตำแหน่ง และเงื่อนไขของการมีรูปภาพให้เป็นไปตามที่ตามที่กรมการขนส่ง ทางบกประกาศกำหนด
กรมขนส่งทางบก ได้แนะนำ “การเลือกรถบัสได้มาตรฐาน ถึงปลายทางโดยปลอดภัย” โดยมีรายละเอียดระบุดังนี้
- เลือกใช้บริการในการเดินทางระยะสั้น และหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีความเสี่ยง
- เลือกใช้บริการรถรถโดยสาธารณะ ป้ายเหลือง ผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพรถ มีประตูทางออกฉุกเฉิน มีอุปกรณ์ความปลอดภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง อย่างน้อย 2 ถัง ติดตั้งบริเวณด้านหน้าใกล้คนขับ และด้านหลังห้องโดยสาร
- เลือกใช้บริการรถที่ติดตั้ง GPSTracking บ่งชี้ตัวตนคนขับรถ ติดตามพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน
- เลือกใช้บริการรถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ทุกที่นั่ง มีจุดยึดที่นั่งแข็งแรง ได้มาตรฐานความปลอดภัย
- เลือกใช้บริการรถที่ใช้พนักงานขับรถที่ชำนาญเส้นทาง มีใบอนุญาตขับรถ ถูกต้องตรงตามประเภท
กรมขนส่งทางบก ยังได้แนะนำอีกว่า “รู้หรือไม่? รถบัสที่มีความสูงกว่ารถโดยสารทั่วไป เพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ” โดยระบุว่า เนื่องจากความสูงของตัวรถ ความเร็วในการขับขี่และสภาพถนนโค้ง ลาดชัน มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุเสียหลัก หรือพลิกคว่ำได้ง่าย ซึ่งการพลิกคว่ำมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อย โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ ตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงรถ ที่อยู่สูงกว่ารถบัสทั่วไป และน้ำหนักของผู้โดยสารรวมกับสัมภาระด้านบน
นักวิชาการยกมาตรฐานความปลอดภัยของรถบัสทัศนศึกษาในต่างประเทศ
ดร.สนธิ คชวัฒน์ อาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ระบุว่า มาตรฐานความปลอดภัยของรถบัสในการนำนักเรียนไปทัศนศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ในประเทศญี่ปุ่นจะให้นักเรียนชั้นอนุบาลและประถมไปทัศนศึกษาภายในเมืองไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก เน้นเดินชมเมืองแต่หากเป็นชั้นมัธยมจะไปยังต่างเมืองได้ การใช้รถบัสสำหรับการเดินทางจะมีความเข้มงวดมากต้องมีระบบการตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยของรถบัสด้วย
- จะต้องการตรวจสอบสภาพรถอย่างละเอียดโดยบริษัทกลางที่ได้มาตรฐานก่อนเดินทางทุกครั้งทั้งระบบเบรค ยางรถยนต์ ไฟส่องสว่าง ระบบเชื้อเพลิง ระบบปรตูฉุกเฉิน ระบบเครื่องยนต์และระบบความปลอดภัยต่างๆรวมทั้ต้องมีการบันทึกรายงานผลการตรวจสอบและการซ่อมบำรุงตามรอบให้เห็นอย่างชัดเจน
- รถโดยสารที่จะนำนักเรียนไปทัศนศึกษาต้องติดตั้งระบบ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งและความเร็วของรถได้ตลอดเวลารวมทั้งต้อง มีการใช้ระบบบันทึกการขับขี่ (Digital Tachograph) เพื่อสามารถตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับรถด้วยและมีการวางแผนกำหนดเส้นทางที่ปลอดภัยและความเร็วไว้ก่อน
- คนขับรถต้องมีใบอนุญาตขับขี่พิเศษสำหรับการขับรถโดยสารโดยต้องผ่านการอบรมและสอบด้านความปลอดภัยและการขับขี่เฉพาะพร้อม มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและสุขภาพของคนขับรถทุกครั้งที่เช่ารถยนต์
- รถโดยสารต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง, มีอุปกรณ์ดับเพลิงและค้อนทุบกระจกวางไว้เป็นระยะพร้อมใช้งานได้ทันที, กำหนดให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดทั้งภาย ในและภายนอกรถ
- ก่อนการเดินทางจะต้องมีการสำรวจและวางแผนเส้นทางล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยงอันตรายพร้อม มีแผนสำรองในกรณีที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางฉุกเฉิน
- ก่อนออกเดินทางต้องเข้าห้องอบรมให้ความรู้แก่นักเรียนเกี่ยวกับวการขึ้นลงรถอย่างปลอดภัยรวมทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ เช่นการหาช่องทางออกฉุกเฉินจากรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ เป็นต้นและบอกให้ฝึกสังเกตสิ่งผิดปกติระหว่างการเดินทาง
- ก่อนเดินทางจะต้องแจ้งแผนการเดินทางให้กับหน่วยงานท้องถิ่นและตำรวจทราบล่วงหน้าก่อน 5-7 วันเป็นอย่างน้อยและจัดให้มีระบบการรายงานและติดตามสถานการณ์ตลอดการเดินทางรวมทั้งจัดเตรียมยาทั่วไปและอุปกรณ์ปฐมพยาบาลโดยมีครูที่ผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลร่วมเดินทาง
- รถบัสทุกคันที่เดินทางต้องมีประกันภัยที่ครอบคลุมทั้งตัวรถและผู้โดยสารรวมทั้งจัดให้ มีการตัดทำประกันภัยเพิ่มเติมหากต้องเดินทางไกลหรือไปในที่มีความเสี่ยงอยู่บ้าง
- มีการบันทึกเหตุการณ์ทุกครั้งหลังการเดินทางรวมทั้งต้องการประเมินผลและวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยทุกครั้ง
นอกจากนั้น หากเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานรถบัสทัศนศึกษาในยุโรปด้านความปลอดภัย ระบบความปลอดภัยของตัวรถบัสเพื่อใช้ทัศนศึกษาในประเทศแถบยุโรป จะต้องติดเซ็นเซอร์ป้องกันประตูปิดขณะผู้โดยสารขึ้นและลงจากรถ ตัวถังเป็นโครงสร้างเหล็ก Galvanized ซึ่งมีความแข็งแกร่งมากกว่าเหล็กทั่วไป และกระจกผ้าม่านในรถและพื้นยางปูรถต้องทำจากวัสดุป้องกันไฟลามตามมาตร ฐานของ EU ในแต่ละที่นั่งมีเข็มขัดนิรภัย 2 จุด และต้องมีระบบเบรกอัจฉริยะ Anti-Lock Braking System. (ABS) ทางออกฉุกเฉินของรถบัสให้มีถึง 3 ที่ ได้แก่ ท้ายรถด้านขวามีประตูฉุกเฉินพร้อมป้าย EXIT บานกระจกเป็นกระจกนิรภัย Tempered glass ซึ่งสามารถใช้เป็นทางออกฉุกเฉินได้ ช่องพัดลมดูดอากาศใช้เป็นทางออกฉุกเฉินได้ด้วย
ความปลอดภัยด้านป้องกันไฟไหม้ของยุโรป ต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติในห้องเครื่องยนต์, ถังดับเพลิง 2 ถัง, ค้อนทุบกระจก 4-6 อัน, ระบบ Fire Alarm ในจุดหล่อแหลม เช่น ล้อ ห้องเครื่อง ห้องเก็บสัมภาระ ห้องคนขับและห้องโดยสาร, เชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับรถบัสยุโรป จะใช้น้ำมันดีเซล Euro5, ยางรถยนต์รถบัสยุโรปต้องยึดเกาะถนนได้ดีตามมาตรฐาน Euro และะพนักงานขับรถในยุโรปต้องมีใบขับขี่รถบัสหรือได้ Certificated และมีประสบ การณ์ขับขี่ สามารถยืนยันตัวตนได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎเกณฑ์ข้อกำหนดที่ระบุไว้ทางกฎหมายเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของ รถบัส-รถโดยสาร แต่ในทางปฏิบัติด้านการตรวจสอบจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่าง กรมการขนส่งทางบก หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม จะต้องมีความเข้มงวดในการตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากไม่เข้มงวดจริงจัง เหตุการณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
นอกจากนั้น อีกประเด็นที่อยากหยิบยกอีกอย่างหนึ่งคือ ระยะเวลาการใช้งานของ รถบัส รถโดยสาร โดยเฉพาะที่เป็นรถที่ให้บริการสาธารณะ ควรมีการพิจารณาการปลดระวางหรือการกำหนดระยะเวลาใช้งานที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งกระบวนการผลิต รถบัส รถโดยสาร โดยเฉพาะรถที่เป็น รถบัสทัศนศึกษา หรือ รถโรงเรียน ต้องได้รับมาตรฐานการผลิตที่เข้มงวดกว่ารถประเภทอื่น ๆ ทั่วไปหรือไม่ เพื่อความปลอดภัย
หรือแม้กระทั่ง ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ หรือ ผู้ขับขี่รถโรงเรียน จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรบอย่างเคร่งครัดมากกว่าทั่วไปหรือไม่ ในฐานะผู้รับผิดชอบชีวิตในการเดินทางของผู้โดยสารจำนวนมาก เพื่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้โดยสาร
Credit Photo : whas11