วันที่ 5 กันยายน 2567 สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ประกาศแต่งตั้ง “สุโรจน์ แสงสนิท” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด หรือ MG ให้เป็น นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย คนใหม่ ต่อจาก นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ครบวาระ 2 สมัย
Autolifethailand ได้สัมภาษณ์นาย สุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ถึงทิศทางการบริหารงานและนโยบายการดำเนินงานของ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการชุดใหม่นับจากนี้
นโยบายของ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หลังจากนี้ที่ต้องผลักดันเร่งด่วนมีอะไรบ้าง ?
อันดับแรกจะมีการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนตัวถัดไปของประเทศไทย เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของประเทศไทย ที่ปัจจุบันอยู่อันดับ 10 ของโลก และมีการจ้างงานในภาคแรงงานของอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 8 แสนตำแหน่ง
นอกจากนั้น จะสนับสนุนเสริมสร้างความรู้และการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ ซัพพลายเออร์ ที่มีจำนวนหลักพันรายให้ทุกคนสามารถทรานซ์ฟอร์มตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน จะมีการผลักดันการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับ สหภาพยุโรป (EU) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการส่งออก
“เราต้องคว้าโอกาสสำคัญจากปัญหาการกีดกันทางการค้าของ สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ที่มีต่อ ประเทศจีน โดยจะมีการนำเสนอกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพิจารณาข้อกำหนดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่จะต้องร่วมทุนกับบริษัทในประเทศไทย และใช้ชิ้นส่วนการผลิตในประเทศไทย”
การส่งเสริมด้านการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นอย่างไร ?
ปัจจุบันสัดส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้าต่อรถยนต์ในประเทศไทย มีสัดส่วนอยู่ที่ 17 คัน ต่อหัวชาร์จ จากค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 10-12 คัน ต่อหัวชาร์จ ซึ่งจะสนับสนุนผู้ประกอบการสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ขยายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรารับรู้ปัญหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว สงกรานต์, ปีใหม่ และอื่น ๆ
อีกทั้ง ในส่วนของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีการพูดคุยกันเรื่องการกำหนดมาตรฐานในประเทศไทย ว่าควรจะเป็นหัวชาร์จประเภทอะไร หรือจะเป็นการสลับแบตเตอรี่ (Swapping Battery) ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาขนาดของแบตเตอรี่ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น
รวมถึงการควบคุมมาตรฐานการบำรุงรักษาของผู้ประกอบการสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ปัจจุบันติดตั้งอยู่กลางแจ้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และ การควบคุมมาตรฐานการจ่ายไฟให้ตรงกับมาตรฐานค่าที่ควรเป็นสอดคล้องกับราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย
ขณะที่ จะมีการหาข้อจุดสมดุลในการกำหนดราคาขายไฟฟ้าของผู้ประกอบการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และจะมีการพูดคุยหารือรองรับการเพิ่มปริมาณของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตที่อาจะมีการใช้ไฟฟ้าพร้อมกันสูงสุด (พีค) เพื่อให้ไฟฟ้าเพียงพอ
มองเทคโนโลยี Range-Extended Electric Vehicle (REEV) ในไทยอย่างไร ?
ก่อนอื่นเลยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนนำเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาการไม่สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้าในทุกที่ของประเทศ แต่สำหรับในประเทศไทยในฐานะ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มองว่าเทคโนโลยี REEV ยังไม่จำเป็นเนื่องจาก ยังไม่ใช่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) เป็นศูนย์ ตามแนวทางที่รัฐบาลวางไว้ ดังนั้นการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่า
มองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้อย่างไร ?
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่เราคาดการณ์ไว้เดิมที่อยู่ที่มากกว่า 1 แสนคัน โดยมองว่าอาจจะอยู่ที่ต่ำกว่า 8 หมื่นคัน จากปัจจัยสำคัญคือ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวและไม่ได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์)
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า มองอย่างไรกับการแข่งขันด้านราคา (สงครามราคา) ในปัจจุบัน ?
สงครามราคาในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างมากและมีผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคอย่างแน่นอน ซึ่งไม่ส่งผลดีเพราะถ้าประเมินจากยอดขายในตลาดการแข่งขันด้านราคาไม่ได้ส่งผลให้ยอดขายเติบโตขึ้น ในฐานะ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เราไม่สามารถทำอะไรได้แม้ว่าทุกบริษัทจะเป็นสมาชิกสมาคมก็ตาม แต่ในประเทศไทยมีเสรีในการค้า และก่อนหน้านี้ สถานฑูตจีน ได้มีการเรียกผู้ประกอบการไปพูดคุยหารือแต่ก็ไม่มีผลอะไร ท้ายที่สุดผลของการกระทำจะเป็นคำตอบของการทำสงครามราคาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
นายสุโรจน์ กล่าวว่า การเข้ามารับตำแหน่งในวาระการทำงานระหว่างปี 2024-2026 จะมีการสานต่อนโยบายและพันธกิจหลักของสมาคมที่ยึดมั่นมาโดยตลอด โดยปัจจุบันสมาชิกสมาคมมีจำนวน 390 สมาชิก ซึ่งเป็น นิติบุคคล, ผู้ผลิตรถยนต์, ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์, ผู้ผลิตชิ้นส่วนยาานยนต์, ผู้ประกอบการสถานีชาร์จ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จะยังคงเดินหน้าการให้ความรู้ความเข้าใจพัฒนาบุคลากรและเสริมสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้