จากสถานการณ์การแข่งขันของตลาดรถกระบะที่รุนแรง จากความกดดันของไฟแนนซ์ที่ควบคุมการอนุมัติสินเชื่อ พร้อมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวและหนี้ครัวเรือนสูงส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการส่งผลให้ตลาดรถกระบะนับตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 ชะลอตัว
นอกจากนั้น ยังมีการเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่จากคู่แข่งสัญชาติเดียวกันสำคัญในตลาดที่ขับเคี่ยวกันมาอย่างยาวนานซึ่งประกาศทวงแชมป์ในทุกเซกเมนต์ของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยรวมถึงรถกระบะเช่นเดียวกัน อีกทั้งผู้เล่นรายใหม่สัญชาติจีนที่แนะนำกระบะพลังงานทางเลือก (ไฮบริด) สู่ตลาด ถือเป็นกระแสการแข่งขันของตลาดรถกระบะในประเทศไทยที่มีความรุนแรงในทุกด้าน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Toyota ลั่น ! ปี 2567 แชมป์ทุกเซกเมนท์ หลังเสียแชมป์กระบะไปหลายปี
Autolifethailand ได้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทาคาชิ ฮาตะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด หรือ ISUZU ถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งได้ฉายภาพตลาดรถกระบะในประเทศไทยในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 2567 ที่มีการหดตัวอย่างมากเนื่องมาจากสาเหตุหลักคือ มาตรการอันเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของบริษัทไฟแนนซ์ต่าง ๆ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะคงอยู่อีกระยะหนึ่งและจะเริ่มคลี่คลายลง แล้วตลาดรถกระบะก็จะมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างนี้เราจะพยายามเพิ่มยอดจำหน่ายรถปิกอัพอีซูซุในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักของอีซูซุอยู่แล้วให้ได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนในอีกประเด็น การที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นต้องการเป็นที่ 1 ในทุกตลาดนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างไร เพราะเป็นปกติของการทำธุรกิจที่ต้องตั้งเป้าหมายเช่นนั้นอยู่แล้ว สิ่งที่เรา อีซูซุ ต้องพิจารณาคือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าเกิดความพอใจสูงสุดในแบรนด์อีซูซุ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์, บริการหลังการขาย และประสบการณ์โดยรวมกับแบรนด์ของเรา เพราะลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกซื้อรถยนต์แบรนด์ใด ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต
สำหรับ การแนะนำรถกระบะพลังงานทางเลือกใหม่ลงสู่ตลาดของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน มองว่าไม่ว่าใครจะแนะนำผลิตภัณฑ์ใดลงสู่ตลาด ก็ล้วนเป็นคู่แข่งกับเราทั้งหมด แต่เราเชื่อว่าเรารู้จัดผู้บริโภคชาวไทยดีที่สุด ซึ่งการพัฒนารถกระบะพลังงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า 100% หรือ พลังงานไฮบริด ก็ต้องลงรายละเอียดในการพิจารณาด้านการใช้งานโดยรวม อาทิ น้ำหนักบรรทุก, ระยะทางการวิ่งต่อการชาร์จหรือความเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อถามถึง การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้ากับแบรนด์จีน เทคโนโลยีของ อีซูซุ มีความสามารถทางการแข่งขันได้มากน้อยขนาดไหน? นาย ฮาตะ กล่าวว่า อีซูซุ เป็นผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์แบบครบวงจร ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์รถปิกอัพ รถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมทั้งรถบัสโดยสาร โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการนำเสนอ “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ไม่ว่าจะเป็น BEV, FCEV หรือเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Fuel) เป็นต้น
เราได้ลงทุนสร้างศูนย์พัฒนาและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ “The EARTH Lab” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เรามั่นใจในเทคโนโลยีของเราว่าสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าผู้ใช้รถได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Isuzu D-Max EV Concept กระบะไฟฟ้า100% และ D-Max Hi-Lander MHEV Mild Hybrid 48V เปิดตัวปี 2025 ผลิตในไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ISUZU ทุ่มงบวิจัย 2.4 แสนล้านบาท! สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี’73
อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกก็เป็นไปตามวัฏจักรของธุรกิจโดยทั่วไป กล่าวคือจะอยู่ในช่วงขาขึ้นจนถึงระยะหนึ่งก็จะเริ่มชะลอตัวลงจนถึงอีกระยะหนึ่ง ก็จะมีโอกาสกลับสู่ขาขึ้นอีกครั้ง อีซูซุ ก็จะเตรียมการต่างๆ ให้พร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์รถไฟฟ้าขาขึ้น โดยนโยบายของเราคือ การมีส่วนร่วมทำให้สังคมเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ด้วยการนำเสนอแหล่งพลังงานที่หลากหลายให้เลือก (Multi-pathways to Carbon Neutrality) เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและซับซ้อนของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น รถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) รถไฟฟ้าที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (FCEV) รวมทั้งรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ใช้เชื้อเพลิงเจนเนอเรชั่นใหม่ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Fuel)