นาย ริชาร์ด หวัง (Richard Wang) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการโรงงานผลิตยางรถยนต์คอนติเนนทัล บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมใช้เงินลงทุนมูลค่า 300 ล้านยูโร (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) ในการขยายกำลังการผลิตระยะที่ 2 (เฟส 2) ของ โรงงานผลิตยางรถยนต์คอนติเนนทอล จังหวัดระยอง (Continental Rayong Plant) โดยจะสามารถขยายกำลังการผลิตยางรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านเส้น/ปี ภายในปี 2570 โดยการลงทุนในเฟสที่ 2 จะเริ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2568
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : บีโอไอ อนุมัติ Continental ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตยางรถยนต์ในไทย
ขณะที่โรงงานผลิตยางรถยนต์ของบริษัทในประเทศไทย มีสัดส่วน 90% เพื่อการส่งออก และ 10% เพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยตลาดหลักที่ส่งออกไปคือ ตลาดเอเชียแปซิฟิก โดยการขยายในเฟสที่ 2 รองรับการเติบโตของตลาดหลัก และการขยายตลาดไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ โรงงานผลิตยางรถยนต์คอนติเนนทอล จังหวัดระยอง เริ่มเดินสายการผลิตตั้งแต่ปี 2562 ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 250 ล้านยูโร (9,500 ล้านบาท) ในระยะที่ 1 (เฟส 1) โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3.6 ล้านเส้น/ปี
ขณะที่ บริษัทได้มีการซื้อพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (WHA) ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ไว้ราว 470 ไร่ (7.5 แสนตารางเมตร) พร้อมมแผนระยะยาวในการขยายกำลังการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านเส้น ในอนาคต ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ของ คอนติเนนทัล
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนโยบายทางภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บริษัทยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อการขยายกำลังการผลิตที่จะเกิดขึ้น โดยก่อนหน้านี้โรงงานในประเทศไทยเคยมีการส่งออกยางรถยนต์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันได้หยุดการส่งไปประเทศดังกล่าวแล้วจากประเด็นดังกล่าว
สำหรับในปี 2569 จะเริ่มมีการส่งออกยางรถยนต์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกหลักเป็นกลุ่ม ยางรถบรรทุกขนาดเล็ก (Light Truck)
“บริษัทยืนยันว่าตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของกำลังการผลิตในประเทศไทยที่มีการส่งออกโดยตลาดอเมริกาไม่ใช่ตลาดหลักในการส่งออกจากไทย”
นอกจากนั้น ปัจจุบัน Continental มีฐานการผลิตยางรถยนต์จำนวน 20 แห่ง ใน 16 ประเทศ และมีการวางแผนการปรับกำลังการผลิตตามความต้องการและปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามความเหมาะสมซึ่งเป็นกลยุทธ์ของบริษัทที่มีฐานการผลิตกระจายอยู่ทั่วโลก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางด้านภาษีหรือต้นทุนในการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดใดก็สามารถปรับเปลี่ยนไปยังฐานการผลิตที่สามารถบริหารจัดการตามแผนการผลิต