อุตสาหกรรมยานยนต์ ในประเทศไทยปี 2567 ถือเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมากจากหลากหลายปัจจัยผลกระทบ ทำให้ตัวเลขตลาดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมมากมาย Autolifethailand ได้รวบรวมไว้ในคอนเทนต์นี้
ปรับเป้าหมาย ยอดผลิต – ยอดขาย อุตสาหกรรมยานยนต์ ลงต่อเนื่องทุกไตรมาส
สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปี 2567 มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรอบด้าน อาทิ เศรษฐกิจชะลอตัว, หนี้ครัวเรือนและหนี้เสียสูง, สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) คุมเข้มการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลให้ตลาดชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และถือได้ว่าเป็นตัวเลขตลาดที่ต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปีและต่ำกว่าในช่วงสถานการณ์การณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
การคาดการณ์ของ โตโยต้า (TOYOTA) ในช่วงต้นปี 2567 มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจะอยู่ที่ 8 แสนคัน และหลังจากนั้นได้มีการปรับการคาดการณ์อีก 3 ครั้ง ลดลงเหลือ 7.3 แสนคัน, 6.5 แสนคัน และ 6 แสนคัน ตามลำดับ ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในช่วงต้นปี 2567 มีการคาดการณ์การผลิตไว้รวมอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน และได้มีการปรับลดลง 2 ครั้ง เหลือคาดการณ์การผลิตรวม 1.9 ล้านคัน ลดลงเหลือ 1.7 ล้านคัน แบ่งเป็น ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจาก 7.5 แสนคัน ลดลงเหลือ 5.5 แสนคัน และ ผลิตเพื่อส่งออก 1.15 ล้านคัน ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหลัก ๆ ปรับลดในส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ส.อ.ท. หั่นเป้าผลิตรถยนต์ในประเทศลง 2 แสนคัน ซึมพิษเศรษฐกิจ
ต่อมา ส.อ.ท. ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยปี 2567 ลงอีกครั้ง 2 แสนคันต่ำสุดในรอบ 4 ปี เป้าหมายการผลิตรถยนต์รวม จาก 1.7 ล้านคัน ลดลงเหลือ 1.5 ล้านคัน แบ่งเป็น ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจาก 5.5 แสนคัน ลดลงเหลือ 4.5 แสนคัน และ ผลิตเพื่อส่งออกจาก 1.15 ล้านคัน ลดลงเหลือ 1.05 ล้านคัน
3 ค่ายรถประกาศ ยุติการผลิต- ย้ายฐานการผลิต ในประเทศไทย
ประเด็นที่ถือเป็นข่าวใหญ่ในปี 2567 คือ การยุติ-การปิด-การย้าย ฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยของ 3 แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ได้แก่ ซูบารุ (SUBARU), ซูซูกิ (SUZUKI) และ ฮอนด้า (HONDA) ด้วยปัจจัยการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละแบรนด์
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 กลุ่มตันจง (TCIL) ซึ่งดูแลกลุ่มธุรกิจในประเทศอาเซียน-จีน ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) เตรียมหยุดประกอบรถยนต์ ซูบารุ จากโรงงานในประเทศไทย ในนามบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด หรือ TCSAT ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออกไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม และบริษัทไม่สามารถควบคุมราคาจำหน่ายได้ จึงตัดสินใจหยุดการผลิต และรถยนต์ที่ซูบารุที่ขายใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย และกัมพูชา จะเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งคัน (CBU)
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศยุติการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยการตัดสินใจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนโครงสร้างการผลิตของ ซูซูกิ ทั่วโลก และมีแผนที่จะนำเข้าจากโรงงานในภูมิภาคแถบอาเซียน รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดีย แทน สำหรับ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จะยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในการจำหน่ายและการให้บริการหลังการขายในประเทศไทยต่อเนื่อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Suzuki เตรียมยุติการผลิตรถยนต์ในไทย ปลายปี 2025 ยังทำตลาดเหมือนเดิม นำเข้าจากอาเซียน
วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแผนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยย้ายไลน์ผลิตรถยนต์ในโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปรวมกับ โรงงานผลิตรถยนต์ที่ปราจีนบุรี และปรับโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปผลิตเฉพาะชิ้นส่วนการประกอบรถยนต์เท่านั้น
ค่ายรถเริ่มกดปุ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
ปีแห่งการเริ่มต้นการผลิตภายใต้เงื่อนไขการสนับสนุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV3.0) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งถึงเวลาจะเริ่มผลิตในปี 2567 โดยมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนเริ่มต้นกดปุ่มผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้ามาจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา โดยรายแรกที่เริ่มผลิตในปี 2567 คือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) โดยเริ่มผลิตในรุ่น ORA Good Cat โดยในปี 2567 จะมีการผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวอยู่ที่ 8,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นคันในปี 2568 โดยยังไม่มีแผนการผลิตเพื่อส่งออก
เช่นเดียวกับ บีวายดี (BYD) ที่ได้เริ่มผลิตรถยนต์ที่โรงงานในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง บนพื้นที่รวม 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรม WHA กำลังการผลิตรวม 1.5 แสนคัน/ปี โดยเริ่มต้นการผลิต BYD Dolphin, BYD Atto3, BYD Seal และ BYD Sealion6 ตามลำดับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกฯ เศรษฐา กำชับประธาน BYD นายหวัง ชวนฟู กำหนดราคาขายรถยนต์ให้ดี ! และ ขอบคุณที่ลงทุนตั้งโรงงานในไทย
และ GAC AION ที่ได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกนอกประเทศจีน ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC บนพื้นที่ 85,000 ตารางเมตร ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตและจำหน่ายในประเทศรวมถึงส่งออกไปยังประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาทั่วโลก
สงครามราคาเดือด ลดแล้ว ลดอีก ลดต่อเนื่อง
การแข่งขันของราคารถยนต์โดยเฉพาะ กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) มีการใช้แคมเปญส่งเสริมการขายและการปรับลดราคาที่ดุเดือดเป็นพิเศษในปี 2567 เนื่องด้วยสภาพตลาดและการใช้แคมเปญการลดราคาถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เลือกใช้ในสถานการณ์การแข่งขันของตลาดที่มีจำนวนผู้เล่นมากและการแข่งขันสูง
นอกจากนั้น การเริ่มต้นการผลิตชดเชยยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้เกิด สงครามราคา เนื่องจากปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการของตลาดไม่สอดคล้องกันทำให้เกิดปริมาณสต๊อกเป็นจำนวนมาก รวมถึงตลาดที่รองรับการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาในปัจจุบันอาจจะยังมีไม่มากนัก
ขณะเดียวกัน มีการรวมตัวของผู้ประกอบการในการเข้าไปเจรจากับภาครัฐเพื่อเสนอขอผ่อนปรนเงื่อนไขการผลิตในโครงการ EV3.0 และการยุติสงครามราคา เพื่อลดความรุนแรงของการแข่งขันในสถานการณ์ตลาดที่มีการปรับลดราคาสูงถึงหลักหลายแสนบาท จนเป็นที่มาของการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการของรัฐบาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ค่ายรถจีน 8 บริษัท เล็งเสนอปรับเงื่อนไข EV3.0 ต้นเหตุ “สงครามราคาอีวี”
ค่ายรถปรับตัว เปลี่ยนกลยุทธ์ รับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว
ปี 2567 นับเป็นอีกปีที่เห็นทุกแบรนด์ มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงเร็ว นอกเหนือจากการใช้กลยุทธ์ราคาแล้ว ยังมีการรุกด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการขาย ที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งในวันนี้ด้านบริการหลังการขายและการดูแลลูกค้าอย่างจริงใจ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค
รวมถึง การขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ที่ครอบคลุม และความรวดเร็วของการซ่อมและการรออะไหล่ อีกทั้งความเสถียรของการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ซอฟท์แวร์, เครื่องยนต์, มอเตอร์ และทุกส่วนของรถยนต์ เช่นเดียวกับการทำการตลาดเชิงรุกในการสร้างคอมมูนิตี้และการทำกิจกรรมร่วมกับลูกค้าที่ในช่วงปี 2567 จะเห็นถึงความถี่ในการทำกิจกรรมที่มากขึ้น
อีกทั้ง การใช้กลยุทธ์การสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถออกรถได้ง่ายที่สุด ด้วยกลยุทธ์ทางการเงิน, แคมเปญทางการรตลาด แบบเฉพาะกลุ่มเฉพาะบุคคล
เหตุการณ์ในปี 2567 ของ อุตสาหกรรมยานยนต์ นับเป็นเหตุการณ์และเรื่องราวที่ถือว่าเป็นที่สุดในรอบหลายปี และบางเรื่องราวอาจจะเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบให้ตลาดต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ดังนั้นในปี 2567 ถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สะท้อนออกมาในหลายแง่มุมให้ได้เห็น