slide 1
slide 1
Image Slide 2
Image Slide 2
previous arrowprevious arrow
next arrownext arrow
Homeข่าวสารNIU ตั้งไทยเป็น ศูนย์วิจัย-ฐานผลิตแห่งแรกนอกจีน ดันส่งออกอาเซียน

NIU ตั้งไทยเป็น ศูนย์วิจัย-ฐานผลิตแห่งแรกนอกจีน ดันส่งออกอาเซียน

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนแบรนด์นิว’ (NIU) เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 โดยชาริช โฮลดิ้งผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย (ดิสทริบิวเตอร์) กระทั่งล่าสุดในช่วงปลายปี 2567 ได้มีการเปลี่ยนมือสู่ บริษัท พี 80 เจ็ท จำกัด บริษัทย่อยในเครือ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA พร้อมมีแผนที่จะขยายความร่วมมือในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจและมองโอกาสการเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานสำคัญ

นาย โลว เจีย ฮวา (Low Chie Hua) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก NIU International เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพโดยเฉพาะการตอบรับของผู้บริโภคที่มีต่อเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทยได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางด้านการส่งออก พร้อมการได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พร้อมกันนั้น บริษัทยังได้แต่งตั้งให้ บริษัท พี 80 เจ็ท จำกัด บริษัทย่อยในเครือ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย (ดิสทริบิวเตอร์) รายใหม่ รวมถึงได้ให้สิทธิ์การตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) และ ฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า บริหารโดย บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ถือเป็นศูนย์ R&D และ ฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีน โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อการส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

NIU

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมใช้เงินลงทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ในการเปิดสายพานการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย รวมถึงการตั้งทีมวิจัยและพัฒนาสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งจะเริ่มผลิตได้ภายในช่วงปลายปี 2568

ทั้งนี้ การพัฒนาสินค้าสำหรับประเทศไทยบริษัทได้รับความร่วมมือจาก NIU International สำนักงานใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเปิดตัวสินค้าที่ทำการวิจัยและพัฒนาสำหรับประเทศไทย 2 รุ่นในช่วงปลายปี 2568 และอีก 2 รุ่น ในปี 2570 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงมีแผนที่จะเริ่มการส่งออกรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2571

ขณะที่ นอกเหนือจากการพัฒนาสินค้าแล้วบริษัทจะเริ่มสร้างเครือข่ายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ทั้งด้านช่องทางจำหน่าย, สถาบันการเงิน, บริษัทประกันภัย รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจรถจักรยานยนต์มือสอง เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่สมบูรณ์ เพื่อที่จะผลักดันให้ตลาดมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดรับสินค้ากลุ่มนี้ได้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากอัตราการเติบโตของยอดจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100% ต่อเนื่องหลายปี ซึ่งการจะผลักดันให้ตลาดเติบโตได้ต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ อาทิ สมรรถนะของตัวรถ ราคาจำหน่ายที่เหมาะสม รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ด้วยการทำโครงสร้างราคาที่ชัดเจนและมั่นใจได้มากกว่าที่ผ่านมา

สำหรับ แผนการขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายจะมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างน้อย 1 แห่งต่อจังหวัด ขณะที่ใน กทม. จะมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ตามเขต โดยปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครตัวแทนจำหน่ายแล้วกว่า 90 ราย

นอกจากนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายยอดขาย 1 หมื่นคันต่อปี ในปี 2572 ขึ้นเป็นผู้นำของตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากลุ่มพรีเมียมในประเทศไทย ขณะที่มองว่าภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ราว 30,000-35,000 คัน และภายใน 3 ปี ตลาดจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นคัน

NIU

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารูปแบบการทำตลาดของแบรนด์เป็นลักษณะการนำเข้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน ส่งผลให้ราคาขายปลีกสูงและเข้าถึงลูกค้าได้อย่างจำกัด แต่ภายใต้การบริหารของ TTA นอกจากการผลิตการพัฒนาสินค้าแล้วยังจะมีการทำราคาขายให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนการส่งออกไปในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมามีอุปสรรคในด้านกำแพงภาษีนำเข้าจาก ประเทศจีนที่ทำให้ตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร แต่หากมีการเปิดสายการผลิตในประเทศไทย ก็จะทำให้สามารถขยายตลาดเข้าสู่ภูมิภาคนี้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกทั้ง การผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยและส่งออกไปยังอาเซียนด้วยข้อตกลงเขตการค้าเสรี และทำให้ภาษีนำเข้ารถจักรยานยนต์ในหลายประเทศจาก 40-50% ลดลงเหลือ 0% ซึ่งตอนนี้ได้มีตัวแทนจำหน่ายในหลายประเทศเริ่มติดต่อเข้ามาเพื่อจะนำรถไปจำหน่าย โดยบริษัทมีแผนที่จะส่งออกในช่วงปลายปี 2571

ขณะเดียวกัน การผลิตในประเทศไทยจะส่งผลให้ราคาจำหน่ายของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากเดิมนำเข้ามาจำหน่ายราคาอยู่ในระดับ 100,000 บาท ลดลงเหลือราคาในระดับ 40,000-60,000 บาท และบริษัทยังได้ทำการปรับลดราคารุ่นที่จำหน่ายในปัจจุบันลงราว 30% เพื่อเคลียร์สต๊อกเก่าที่จะสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแม้จะยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้งานทุกกลุ่มในวันนี้ แต่เชื่อมั่นว่าการเติบโตของจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นภาพที่คุ้นตาบนท้องถนนภายใน 5 ปีข้างหน้า

- Advertisement -spot_img
Mitsubishi Mega Deal
Mitsubishi Mega Deal
ออล-นิว มิตซูบิชิ ไทรทัน แบล็ก เอดิชัน
ออล-นิว มิตซูบิชิ ไทรทัน แบล็ก เอดิชัน
previous arrow
next arrow
- Advertisement -spot_img

Stay Connected

400,000FansLike
6,955FollowersFollow
153,000FollowersFollow
319FollowersFollow
107,000SubscribersSubscribe

Must Read

Related News