Autolifethailand ได้สัมภาษณ์พิเศษ “เดวิด จาง” ผู้จัดการทั่วไป สำนักงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์วิศวกรรมและธุรกิจต่างประเทศ SGMW ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ วู่หลิง (WULING) ในประเทศจีน ที่วันนี้เข้ามาสนับสนุนให้ บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ วู่หลิง แต่ผู้เดียวในประเทศไทย (Sole Distributor) แข่งแกร่งมากยิ่งขึ้นรับการแข่งขันของตลาดในประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ทั้ง การผลิตและการจำหน่าย
จาง เล่าให้ฟังว่า ตลาดส่งออกของแบรนด์ Wuling เป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแบรนด์ที่ใช้ในการส่งออกเป็นแบรนด์ MG หรือ Chevrolet แม้ว่าในประเทศจีน วู่หลิง จะมียอดขายเยอะก็ตาม ซึ่งหากจะส่งออกภายใต้แบรนด์ วู่หลิง ได้ก็ต่อเมื่อประเทศนั่น ๆ ไม่มีแบรนด์ Chevrolet ซึ่งบริษัทแม่ได้วางแผนการส่งออกไว้ในหลายตลาดและเข้าดำเนินการด้วยบริษัทแม่เอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ส่วนลด เมื่อซื้อเงินสด 40,000 ! ราคาพิเศษ Wuling Binguo รถไฟฟ้า100% : 379,000 – 409,000 บาท (นำเข้า CBU) แบต 31.9 kWh วิ่งไกล 333 km.
สำหรับในประเทศไทยเป็นรูปแบบการแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและให้ดำเนินการแทน ซึ่งก่อนหน้านี้การแข่งขันในประเทศไทยตอนช่วงที่เปิดตัวแบรนด์ วู่หลิง การแข่งขันยังไม่ได้รุนแรงมากนัก แต่ปัจจุบันในประเทศไทยมีการแข่งขันที่สูงทั้งในแง่ของราคาและจำนวนแบรนด์ บริษัทแม่จึงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม
“วู่หลิง มองว่าตอนแรกเป็นการส่งออกรถมาจำหน่าย แต่ถึงตอนนี้เป็นการส่งออกแบรนด์มาทำตลาด และในสถานการณ์นี้บริษัทแม่จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนมากขึ้นทั้งด้านการผลิตและการทำตลาด”
ขณะที่ ในช่วง 7-8 ปี ที่ผ่านมา วู่หลิง ได้ทำตลาดนอกประเทศจีน และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เลือกลงทุนที่ประเทศ อินโดนีเซีย ในช่วงปี 2560 และเมื่อปีที่ผ่านมา อีวี ไพรมัส ได้มีการลงทุนโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งการที่บริษัทแม่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้เอาบทเรียนและผลการศึกษาของตลาดใน อินโดนีเซีย เข้ามาปรับใช้
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่เป็นจุดหมายของแบรนด์จีนในการขยายตลาดเป็นแห่งแรกนอกจีนที่จะต้องเข้ามาทำตลาดและตั้งโรงงาน ซึ่ง วู่หลิง ก็มองในทิศทางเดียวกัน ในฐานะนักลงทุนมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบซัพพลายเชนที่ครบครัน รวมถึง คุณภาพของฝีมือแรงงานและการสนับสนุนของรัฐด้านนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ใกล้กับประเทศจีน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Wuling Starlight S เบาะสองแถว มีให้เลือกทั้งขุมพลัง EV และ PHEV
ที่ผ่านมา วู่หลิง ขายรถยนต์ได้แล้วกว่า 25 ล้านคัน และในประเทศจีนแบรนด์ วู่หลิง ถูกขนานนามว่า “เป็นรถของประชาชน” โดยบริษัทมีมุมมองว่า คนอยากใช้อะไรวู่หลิงก็พัฒนาและผลิตให้ได้ ซึ่งด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายและคุณภาพของตัวรถทำให้ผู้ใช้รถในจีนเลือก วู่หลิง ไปใช้งาน โดยเฉพาะรถในกลุ่มเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งแม้ว่า วู่หลิง จะเป็นรถราคาถูกแต่ไม่ใช่รถคุณภาพต่ำ
ในประเทศจีนเราเน้นปริมาณการผลิตที่มีจำนวนมากทำให้มี Economy of Scale และควบคุมต้นทุนได้ดี ซึ่งในรุ่น Bingo จะเป็นอีกรุ่นที่ขายดีในระดับ 4-5 แสนคัน ซึ่งเชื่อว่ารุ่นนี้จะเป็นอีกรุ่นที่เหมาะกับประเทศไทย โดยปัจจุบัน วู่หลิง พัฒนารถยนต์และสามารถผลิตพวงมาลัยซ้ายและพวงมาลัยขวาได้พร้อมกัน และมีความเร็วในการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างในประเทศจีน มีการไมเนอร์เชนจ์อยู่ที่ราว 8 เดือน และ โมเดลเชนจ์ราว 1 ปีครึ่ง
ขณะเดียวกัน วู่หลิง ยังเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานจาก เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปี ก่อน ซึ่งในประเทศจีน วู่หลิง ขายรถยนต์ไฟฟ้าไปกว่า 2 ล้านคัน และ อยู่ในระดับ TOP 3 ของยอดขายในจีน
จาง กล่าวต่อว่า วู่หลิง มีแพลตฟอร์ม GSEV (Global Small Electric Vehicles) ซึ่งใช้ในโมเดลใหม่ ๆ อย่าง MINI EV Macaron ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2568 เป็นต้นไป โดยในประเทศจีนมีราคาขายราว 2.5 แสนบาท และมีแนวโน้มว่าจะเปิดตัวและคาดการณ์ราคาจำหน่ายอยู่ที่ต่ำกว่า 3 แสนบาท
ด้านแผนการประกอบรถยนต์ในประเทศไทยบริษัทมีแผนการประกอบในรุ่น A-B-C หรือ Air EV, Binguo, Cloud ที่จะประกอบและจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนรุ่นอื่น ๆเรามองว่า ต้องพิจารณาจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับซึ่งมีทางเลือกทั้งประกอบในประเทศและการนำเข้าจากอินโดนีเซีย ซึ่งต้องทำราคาให้สามารถแข่งขันได้ตลอดเวลาทั้งในปัจจุบันและหลังการสิ้นสุดมาตรการสนับสนุน
ตอนนี้บริษัทแม่เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านการจำหน่ายและการตลาดด้วยการสนับสนุนงบประมาณ 100 ล้านบาท ในการทำแบรนด์, การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) และพัฒนาภาพลักษณ์ผู้แทนจำหน่าย ซึ่งตั้งเป้าว่าจะมีเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายอยู่ที่ 50 แห่ง ภายใน 2 ปีจากนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 31 แห่ง
“วู่หลิง มั่นใจว่าการเป็น แบรนด์ของประชาชน ที่ถูกขนานนามในจีนเอาคอนเซปต์ที่จีนมาใช้ที่ไทยให้ได้มากที่สุด ทำรถให้เข้าถึงง่าย ให้ผู้บริโภค ซื้อไม่แพง ใช้ไม่แพง”
นอกจากนั้น บริษัทได้มีการเพิ่มปริมาณการสต๊อกอะไหล่หมุนเวียนจำเป็น เพื่อทำให้ผู้บริโภครออะไหล่ไม่นาน โดยมีมูลค่าสต๊อกอยู่ที่ราว 10 ล้านบาท ซึ่งเหมาะสมกับปริมาณรถหลักพันคันในปัจจุบันของแบรนด์ อีกทั้งบริษัทแม่ได้สนับสนุนในการทำแคมเปญส่งเสริมการขายในรุ่นเดิมเพื่อให้แข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่การเข้าสู่สงครามราคาเพราะไม่อยากซ้ำเติมความรุนแรงของสงครามราคาเวลานี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : พาไปชมภาพรถคันจริง Wuling Binguo รถไฟฟ้า100% : 419,000 – 449,000 บาท (นำเข้า CBU) แบต 31.9 kWh วิ่งไกล 333 km.
หลังจากนี้จะมีการปรับนโยบายการกำหนดราคา เพื่อให้สามารถเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มในรุ่นใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้าปัจจุบัน ซึ่งมองว่าปัจจุบันราคาจำหน่ายที่จีนกับที่ไทยมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งราคาที่จีนกับที่ไทยอาจจะต่างกันประมาณ 10-15% เป็นไปได้มากที่สุด
อีกทั้ง วู่หลิง มองการทำอย่างไรที่จะสร้างเซกเมนท์ใหม่ ๆ อาทิ รถราคาเข้าถึงง่าย (Entry Level) และ รถเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก และนอกจากรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ อาทิ ปลั๊ก-อินไฮบริด และ Extended Range Electric Vehicle (EREV)
อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าจะมียอดขาย 1 หมื่นคัน ภายใน 2 ปีจากนี้ โดย 2 ปี ที่ผ่านมา วู่หลิง มียอดขายในไทยอยู่ที่ 2,000 คัน ซึ่งมองว่าการแข่งขันด้านสงครามราคาจะยังคงรุนแรงต่อไปในปี 2568
ในปี 2568 บริษัทตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 3,000 คัน พร้อมการปรับกลยุทธ์ด้านราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งมีแผนการเปิดตัวอย่างน้อย 3 รุ่น ได้แก่ Cloud, Starlight และ รถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ควบคู่กับรุ่นที่จำหน่ายอยู่คือ Air EV และ Binguo