เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแล้วสำหรับ แพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัท ยูเน็กซ์ อีวี (UNEX EV) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายประเภท พร้อมลงนามกับพันธมิตรทางธุรกิจหลายภาคส่วนเพื่อขยายระบบนิเวศและการขยายการบริการ
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ยูเน็กซ์ อีวี จำกัด (UNEX EV) แพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่ เปิดเผยว่า บริษัทและพันธมิตรมีแผนที่จะใช้เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่จำนวนกว่า 1,000 แห่ง ภายใน 3 ปี
ทั้งนี้ แผนในระยะต่อไปของ UNEX EV คือการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ภายใน 2 ปีจากนี้ พร้อมมีเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัจฉริยะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก
สำหรับ ยูเน็กซ์ อีวี เป็นแพลตฟอร์มรองรับทุกการเคลื่อนที่ทั้ง ทางบก, ทางน้ำ หรือ ทางอากาศ ตั้งแต่รถรับจ้างสาธารณะไฟฟ้า, รถเพื่อการพาณิชย์ไฟฟ้า, รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, เรือไฟฟ้า รวมถึง โดรน (Drone)
“บริษัทพร้อมที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานหรือภาคส่วนต่าง ๆ และความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมขยายเครือข่ายและพัฒนาระบบนิเวศด้านพลังงานสะอาด โดยปัจจุบันมีการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีกไม่ช้า”
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มของ ยูเน็กซ์ อีวีจะผสานเข้ากับเทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่จาก UOTTA ซึ่งเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ซึ่งดำเนินธุรกิจนวัตกรรมการสลับแบตเตอรี่
สำหรับบริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน ได้แก่
1.บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ได้ร่วมกับ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรองรับกับแพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่ซึ่งมีรถ 2 รุ่นแรก ได้แก่ UNEX EV (MG 5 ที่นั่ง) ซึ่ใช้รถยนต์ MG EP รถยนต์ 5 ที่นั่งแบบสลับแบตเตอรี่, และ MG MAXUS 7 รถยนต์อเนกประสงค์ (MPV) 7 ที่นั่งแบบสลับแบตเตอรี่
2.สถานีเติมพลังงาน ได้ร่วมกับ สถานีบริการน้ำมันซัสโก้ (SUSCO) ในการขยายเครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่ในอนาคต
3.สถาบันการเงิน ได้ร่วมกับ ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งในรุ่น MG EP แบบสลับแบตเตอรี่ ผ่อนเริ่มต้น 550 บาท/วัน โดยไม่ต้องใช้เงินดาวน์ในการออกรถ
นายพิทักษ์ กล่าวว่า แพลตฟอร์มของ UNEX EV จะช่วยดูแลสุขภาพแบตเตอรี่ (State of Health – SOH) ช่วยยืดอายุการใช้งาน และช่วยผู้ประกอบการตรวจสอบและบริหารจัดการพลังงานได้แบบเรียลไทม์ โดยระยะเวลาในการสลับแบตเตอรี่ใช้เวลา 3 นาที
ขณะที่ สถานีสลับแบตเตอรี่แห่งแรกจะเปิดให้บริการในจังหวัดภูเก็ต ช่วงเดือน พฤษภาคม โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท ออโต้ ไดร์ฟ อีวี จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเช่าแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า โดยเบื้องต้นมีจำนวน 40 คัน และมีสถานีสลับแบตเตอรี่จำนวน 1 แห่ง โดยใช้เงินลงทุนราว 15-20 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับการสลับแบตเตอรี่ได้ 100 คัน และคาดว่าจะคืนทุนภายใน 3 ปี
อย่างไรก็ตาม จังหวัดภูเก็ตถือว่ามีศักยภาพสูงในการนำระบบสลับแบตเตอรี่มาใช้งาน เนื่องจากมีรถรับจ้างสาธารณะเป็นจำนวนมาก และบริษัทมีความพร้อมที่จะขยายสถานีสลับแบตเตอรี่ในพื้นที่ที่มีความต้องการ โดยเป้าหมายต่อไปจะขยายในพื้นที่ กทม. ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพที่ต้องครอบคลุมความต้องการ
นายพิทักษ์ กล่าวว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวถือได้ว่าลดข้อจำกัดและลดความเสี่ยงในทุกด้านทั้งประสิทธิภาพของตัวรถและแบตเตอรี่, การติดตามตัวรถด้วยเทคโนโลยี สามารถควบคุมการใช้งานและตัดการทำงานของแบตเตอรี่ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการ โดยเป็นกลไกให้ผู้ที่ต้องการนำรถไปประกอบอาชีพในสถานการณ์เศรษฐกิจสร้างงานสร้างรายได้
“เบื้องต้นเริ่มทำธุรกิจระหว่างองค์กร (B2B) ก่อน เพราะต้องสร้างปริมาณความต้องการซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเริ่มต้นของแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ แต่ก็ไม่ได้จำกัดกับการทำเฉพาะกับ B2B เท่านั้น”