รู้หรือไม่ว่า !?! Toyota (โตโยต้า) ไม่ใช่เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ตั้งแต่แรก และแรกเริ่มเดิมทีไม่ใช่ชื่อแบรนด์นี้ จั่วหัวมาแบบนี้เป็นเพราะ Autolifethailand ได้มีโอกาสร่วมเดินทางศึกษาประวัติศาสตร์ของรากเหง้าแบรนด์และประวัติความเป็นมาของ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ถึงถิ่นกำเนิด Toyota Commemorative Museum of Industry and Technology และ Toyota Automobile Museum ซึ่งทั้ง 2 พิพิธภัณฑ์นี้ได้รวบรวมเรื่องราวของแบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานนี้ไว้ราวกับพาเราได้ย้อนอดีตกลับไปยังจุดเริ่มต้น
จุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้ไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์
ธุรกิจแรกของ โตโยต้า คือ “ธุรกิจสิ่งทอ” โดยผู้ก่อตั้งคือ Sakichi Toyoda ที่เริ่มตั้งแต่การหาวัตถุดิบสารตั้งต้นในการทอผ้า เครื่องปั่นเส้นด้าย รวมถึงเครื่องจักรสมัยเก่าที่ใช้แบบทอผ้าด้วยมือ (กี่ทอผ้า) แต่ด้วยความมีหัวคิดทางด้านการพัฒนา เขาได้เริ่มพัฒนา กี่ทอผ้า แบบดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากนั้นก็ได้คิดค้นเครื่องจักรทอผ้าไอน้ำ และเครื่องจักรทอผ้าแบบแบบอัตโนมัติและจดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นของตัวเอง ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน กระทั่งการ Sakichi Toyoda ได้ขายสิทธิบัตรเครื่องจักรทอผ้าอัตโนมัติให้กับบริษัท Platt Brother and Company บริษัทสัญชาติอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1929
ทายาทผู้สืบทอดธุรกิจสานต่อแนวคิดนักพัฒนา
ในช่วงปี ค.ศ. 1923 เวลานั้น ประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เลยเสียด้ายซ้ำ ยังเป็นช่วงที่การเดินทางสัญจรเป็น รถม้า และ รถไฟ ซึ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้การเดินทางเป็นอัมพาตจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถไฟที่ไม่สามารถใช้งานได้ ช่วงนั้น Ford และ GM มีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลในเวลานั้นจึงนำเครื่องยนต์ของ Ford มาผลิตเป็นรถโดยสารขนส่งผู้คน จนกระทั่งประชาชนในญี่ปุ่นเริ่มเห็นว่าการเดินทางไม่ได้มีเพียงแค่เฉพาะ รถม้า และ รถไฟเท่านั้น
ขณะที่ Kiichiro Toyoda ผู้เป็นบุตรชาย หลังจากสำเร็จการศึกษา ได้ไปศึกษาดูงานที่ อเมริกา และ ยุโรป เมื่อกลับมาที่ประเทศญี่ปุ่น จึงมองเห็นโอกาสและมองอนาคตของประเทศในการพึ่งพาการเดินทางของประเทศหากต้องพึ่งพารถจากต่างประเทศ จึงมีความคิดที่จะผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นในประเทศของตัวเอง จึงเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นของฝ่ายผลิตรถยนต์ โตโยต้า ในปี ค.ศ. 1933 ซึ่งแยกจ่ายฝ่ายเครื่องจักรสิ่งทอ ซึ่งใช้เงินทุนจากการขายสิทธิบัตรเครื่องจักรทอผ้าอัตโนมัติมาเป็นทุนตั้งต้น ที่ เมือง นาโกย่า (Nagoya) ประเทศญี่ปุ่น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Toyota เปลี่ยนบทบาท และ ความรับผิดชอบ Daihatsu เปลี่ยนเป็น ” Toyota Motor Asia ” ดูแลรถยนต์ขนาดเล็ก
Kiichiro Toyoda ได้ซื้อรถยนต์ Chevrolet มาแยกชิ้นส่วน และ ประกอบกลับเข้าไปใหม่ ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ เรื่อย ๆ ร่วมกับทีมวิศวกร ให้ได้คุ้นชิ้นกับการประกอบ และถือเป็นการวิจัยและพัฒนาไปในตัว จากนั้นได้มีการตั้งโรงงานผลิตเหล็กกล้าเป็นของตัวเองเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ ไม่เท่านั้นความเป็นนักประดิษฐ์ที่สืบทอดกันมาของตระกูล Toyoda ทำให้ Kiichiro คิดค้นวิธีการผลิตเครื่องยนต์ ตั้งแต่การสร้างเครื่องจักร, สร้างบล็อคผลิตเครื่องยนต์, ลูกสูบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจนสามารถผลิตเครื่องยนต์ตัวแรกได้สำเร็จ
ในเวลานั้นเครื่องยนต์ตัวแรกเป็นเครื่องยนต์ที่มีพละกำลัง 48 แรงม้า และหลังจากนั้น 3 ปี ได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีพละกำลัง 65 แรงม้า ซึ่งมาแรงม้าสูงกว่ารถต้นแบบ Chevrolet ที่อยู่ที่ 60 แรงม้า เท่านั้น และจากนั้นจึงได้มีการผลิตรถยนต์รุ่นแรกของแบรนด์ได้สำเร็จ นั่นคือรุ่น Model AA ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในเดือน เมษายน ปีค.ศ. 1936
รถยนต์คันแรกของแบรนด์ ไม่ใช่ชื่อ Toyota และ โลโก้ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้ใช้ชื่อแบรนด์ว่า TOYODA ซึ่งเป็นนามสกุลของผู้ก่อตั้ง และใน Model AA ก็เป็นแบรนด์ TOYODA ซึ่ใช้โลโก้สัญลักษณ์ที่ไม่เหมือนในปัจจุบัน แต่ด้วยในอักษรคันจิของภาษาญี่ปุ่นเมื่อนับเส้นที่เขียนในโลโก้สัญลักษณ์นั้นยังมีความไม่ดีแฝงอยู่ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น TOYOTA ที่เมื่อเขียนเป็นอักษรคันจิแล้วมีความเป็นสิริมงคลมากกว่า รวมถึงยังเป็นการทำให้แบรนด์แยกชัดเจนระหว่างการเป็น ธุรกิจมืออาชีพ กับ ธุรกิจส่วนตัว ออกจากกัน
สำหรับ Model AA ถูกผลิตขึ้นเพื่อเป็นรถยนต์โดยสารในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลิตจำนวน 1404 คัน ในสมัยนั้นราคาจำหน่ายของรถยนต์โดยสารคันนี้นอยู่ที่ 3,350 เยน โดยเปรียบเทียบกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 75 เยน ดังนั้นรถยนต์โดยสารคันนี้จึงเปรียบเสมือนราคา บ้านพร้อมที่ดิน ในยุคนั้น
เมื่อทุกอย่างกำลังจะไปได้สวยแต่แล้วก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงระหว่างการพัฒนาเพื่อเริ่มผลิต Model AA ออกมา ทุกอย่างก็เริ่มจะไปได้ดีแต่ก็เกิด สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลานั้น ประเทศญี่ปุ่น ต้องการเหล็กเพื่อนำไปใช้สำหรับการผลิต อาวุธ และ ยุทโธปกรณ์ ในฐานะที่ โตโยต้า สามารถผลิตเหล็กเองได้จึงต้องส่งเหล็กไปให้กับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำไปใช้ และจำเป็นจะต้องหยุดการผลิตรถยนต์ชั่วคราว
ต่อมา รัฐบาล ประเทศญี่ปุ่นต้องการมให้ โตโยต้า ผลิตรถยนต์เพื่อใช้ทางการทหารซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่รถยนต์โดยสาร แต่เป็นรถบรรทุก ทำให้ Kiichiro Toyoda จึงคิดค้นและพัฒนารถบรรทุกคันแรกของแบรนด์อีกครั้งด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน จนกระทั่งออกมาเป็น Toyoda G1 แต่ด้วยความเร่งด้วยในการพัฒนารถบรรทุกคันแรกขึ้นมาทำให้ รถโมเดลนี้พบจุดบกพร่องกว่า 800 รายการ และ Kiichiro Toyoda ก็เป็นผู้ลงมือแก้ไขปัญหาจนกระทั่งรถโมเดลดังกล่าวเริ่มสมบูรณ์
โรงงานผลิตรถยนต์ ของ TOYODA ตั้งอยู่ที่ เมือง นาโกย่า (Nagoya) ประเทศญี่ปุ่น ในบริเวณเดียวกับโรงงานผลิตเครื่องจักรทอผ้า ในเวลานั้นมีกำลังการผลิตราว 2,000 คัน/เดือน แบ่งเป็น รถบรรทุก 1,500 คัน/เดือน และ รถยนต์นั่ง 500 คัน/เดือน ซึ่ง Kiichiro Toyoda ได้มีการทดลองระบบการผลิตและการจัดหาชิ้นส่วนจนกระทั่งถูกพัฒนามาเป็น กระบวนการผลิตแบบ Just in Time ในปัจจุบัน
โตโยต้า เป็นอย่างไรหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจากประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นย่ำแย่ ประชาชนในประเทศไม่มีกำลังซื้อ ทำให้ โตโยต้า ได้ผันตัวไปประกอบธุรกิจอื่น อาทิ ธุรกิจเครื่องนุ่มห่ม และ ธุรกิจผลิตสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะกลับมาดำเนินธุรกิจยานยนต์อีกครั้งถึงปัจจุบัน
จากประวัติความเป็นมาดังกล่าวของ โตโยต้า ที่เรารู้จักกันในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ Sakichi Toyoda ที่ถูกขนาดนามให้เป็นบิดาแห่งการคิดค้นและพัฒนาของประเทศญี่ปุ่น ที่เปลี่ยนจากผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องจักรสิ่งทอ ไปสู่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ในเวลานั้นไม่มีแม้กระทั้งเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง แต่สามารถคิดค้นและต่อยอดสืบทอด ดีเอ็นเอ สู่ Kiichiro Toyoda ให้กลายเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศญี่ปุ่นได้ และแม้จะมีอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจมากเพียงไรก็สามารถจัดการและแก้ไขจนนำไปสู่ความสำเร็จในปัจจุบัน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากเดินทางไปสัมผัสประวัติของแบรนด์ดังกล่าวในพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่ง ที่ประเทศญี่ปุ่น มีดังนี้
- แผนที่ Google Map Toyota Commemorative Museum of Industry and Technology : https://maps.app.goo.gl/WvyDUXxZGnbjpuXTA
- แผนที่ Google Map Toyota Automobile Museum : https://maps.app.goo.gl/hBmF6Gdf1wpKH8rB7