ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยรายงานบทวิเคราะห์ “อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะผ่านจุดต่ำสุดไปได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จากนั้นจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป” โดยระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่ถาโถมจากรอบด้าน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำและฟื้นตัวได้ช้า
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเผชิญแรงกดดันจากความต้องการในประเทศที่ยังไม่มั่นคง ทำให้ตลาดรถยนต์และจักรยานยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ส่วนกลุ่มยานยนต์เชิงพาณิชย์ คาดว่าจะกลับมาคึกคักขึ้นได้ เพราะอานิสงส์จากการค้าชายแดนและข้ามพรมแดน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ยอดขายรถยนต์ เดือน ต.ค. ปิดตัวเลข 3.7 หมื่นคันร่วงต่อเนื่องไม่หยุด
ขณะที่ ยอดขายรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เป็นต้นไป และยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2568 คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำที่ 5.5 แสนคัน ขณะที่ในระยะปานกลาง มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าและยังไม่สามารถกลับสู่ช่วง Pre-Covid ได้ในภายในปี 2571 เนื่องจากเผชิญกับผลพวงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วย
- สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ
- กำลังซื้อในภาพรวมค่อนข้างเปราะบาง
- พฤติกรรมการใช้รถของคนไทยยาวนานขึ้น
- การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป
นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตาม Vicious cycle ในตลาดยานยนต์ไทย อันเกิดจากการที่สถาบันการเงินมีแนวโน้มตรึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากมีความกังวลต่อทิศทางราคารถยนต์มือสองที่คาดว่าจะปรับลดลงอีก เพราะปัญหาอุปทานส่วนเกินจากกลุ่มรถยึด ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวจะกดดันยอดขายรถยนต์ใหม่ให้ซบเซาต่อเนื่อง และทำให้เหล่าตัวแทนจำหน่ายต้องหันมาเน้นแข่งขันกันด้วยราคา ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมมูลค่าของหลักประกันหมวดยานยนต์ให้มีอัตราการเสื่อมค่าที่เร่งขึ้น ผันผวน และประเมินได้ยาก
อุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ เพราะกิจกรรมขนส่งทางบกกำลังทยอยกลับมาคึกคัก โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์ปี 2568 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและภาคส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น โดยตลาดรถบรรทุกได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมขนส่งตามแนวชายแดนและการค้าผ่านแดนเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดรถโดยสารได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก และมีส่วนช่วยให้ปัญหา Overcapacity ในกลุ่มรถบัสนำเที่ยวบรรเทาลง ทั้งนี้ในระยะปานกลาง จำเป็นต้องจับตาทิศทางการนำเข้ายานยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ซึ่งแม้จะตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนภายในประเทศให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน
ยอดขายรถจักรยานยนต์ยังคงมีแนวโน้มซบเซา เพราะกำลังซื้อในกลุ่มฐานรากค่อนข้างเปราะบาง ซึ่งตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2568 มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง ขณะที่ในระยะปานกลางจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอุปสงค์ยังคงเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อกลุ่มฐานรากที่เปราะบาง ทั้งจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รายได้ภาคเกษตรผันผวน รวมถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อและหนุนให้ความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์จากกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตรฟื้นตัวได้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับภาคการส่งออกรถจักรยานยนต์ในปี 2568 คาดว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ เพราะอุปสงค์จากคู่ค้าสำคัญทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และจีน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ยอดขายรถยนต์ 8 เดือน ต่ำ 4 แสนคัน ลดลง 23.9% ส่วน xEV ยังโตต่อ
SCB EIC ยังระบุว่า ยอดขายรถ Hybrid และ BEV มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าจะครองส่วนแบ่งตลาดราว 30% ในปี 2568 สำหรับตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Hybrid และ BEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 ยอดขายรถกลุ่มนี้จะอยู่ที่ราว 2.1 แสนคัน หรือคิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งหมด โดยตลาดรถไฮบริดนับเป็นแรงส่งสำคัญเพราะผู้บริโภคมีการเปิดรับรถกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งในรถระดับกลาง (ราคา 5 แสน – 1 ล้านบาท) รวมถึงตลาดรถหรู ขณะที่ยอดขายรถ BEV มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าส่วนแบ่งตลาดในระยะปานกลางจะทรงตัวอยู่ที่ 10% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ ทั้งนี้หากพิจารณาปัจจัยฉุดรั้งการเปิดรับรถ BEV จากฝั่งผู้บริโภค พบว่าเกิดขึ้นจากความกังวลใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ
- ความไม่เพียงพอของสถานีชาร์จสาธารณะ
- ปัญหาอุปทานอะไหล่ยนต์ในประเทศและตัวเลือกอู่ซ่อมบำรุงรายย่อยยังมีค่อนข้างจำกัด
- ผลพวงจากสงครามราคารถ BEV ที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยปรับลดลง
- ต้นทุนการถือครองบางส่วนยังอยู่ในระดับสูง อาทิ เบี้ยประกันและอัตราการเสื่อมมูลค่า
สำหรับพัฒนาการห่วงโซ่อุปทาน EV ในประเทศไทยพบว่า กำลังการผลิตรถยนต์ BEV ภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยภายในปี 2568 – 2571 จะขยายตัวสู่ระดับ 6 แสนคัน/ปี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็เติบโตควบคู่ไปกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุ/สลับแบตเตอรี่ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ EV ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากภาคธุรกิจสัญชาติไทย