BYD เปิดตัวงานวิศวกรรมแบบล่าสุด สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในชื่อ Super e-Platform ที่ประเทศจีน ซึ่งมีส่วนประกอบหลักด้วยกัน 3 แบบ ทั้งหมดเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นใหม่ ประกอบด้วย Blade Battery ที่รองรับการชาร์จแบบ Ultra-Fast, มอเตอร์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง และ silicon carbide power chips เจนเนอเรชั่นใหม่ล่าสุด ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นบนโครงสร้างนี้ มีคุณสมบัติเหนือรถยนต์ไฟฟ้า Mass Production ทั่วไปหลายประการด้วยกัน
ประการแรกคือการชาร์จที่ไวมากในหน่วย 10 C (charging multiplier) ซึ่งในทางทฤษฎีหมายความว่าสามารถชาร์จไฟได้เต็มภายใน 1 ส่วนจาก 6 ส่วนของเวลา 1 ชั่วโมง หรือเท่ากับ 6 นาที BYD ยังระบุว่า Blade Battery ผ่านการพัฒนาใหม่ให้รองรับการถ่ายโอนประจุได้ไวมากขึ้น และยังมีแรงเสียดทานภายในต่ำลง ส่งผลให้ชาร์จได้ไวขึ้น โดยรองรับกำลังไฟสูงสุด 1,000 โวลต์ พร้อมทั้งรองรับกระแสไฟจาการชาร์จสูงสุด 1,000 แอมป์ และรองรับกำลังไฟจากการชาร์จสูงสุด 1,000 กิโลวัตต์ (kW) ซึ่งบริษัทเคลมว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก
BYD จึงบัญญัติกำลังไฟดังกล่าวในหน่วย 1 เมกะวัตต์ (MW) นับเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมที่ใช้หน่วยดังกล่าว ซึ่งสื่อถึงการเข้าสู่ยุคของเมกะวัตต์แล้ว พร้อมกันนี้ BYD ยังเปิดตัวเครือข่ายสถานีชาร์จกำลังไฟ 1,000 กิโลวัตต์ ซึ่งมีขีดความสามารถในการชาร์จไฟ EV เพียง 1 วินาที เพื่อให้ขับไปได้อีก 2 กิโลเมตร หรือใช้เวลาในการชาร์จ 5 นาที เพื่อให้ขับขี่ไปได้อีก 400 กิโลเมตร โดยมีการเปรียบเทียบว่ากำลังไฟสูงสุดจากเครือข่าย Supercharger ล่าสุด V4 จาก Tesla อยู่ที่ 500 kW
BYD ระบุว่ามีแผนขยายเครือข่ายสถานีชาร์จดังกล่าวให้ได้ 4,000 จุด โดยครอบคลุมถึงพื้นที่ ที่อาจมีกำลังไฟไม่เพียงพออีกด้วย พร้อมกันนี้ยังมีการเปิดตัวมอเตอร์ไฟฟ้ารอบสูงแบบล่าสุด ซึ่งมีสมรรถนะสูงสุดเมื่อเทียบกับมอเตอร์ของรถยนต์ไฟฟ้า Mass Production รุ่นอื่น และยังเป็นมอเตอร์รุ่นแรกในกลุ่ม Mass Production ที่ทำงานได้ทะลุระดับ 30,000 รอบต่อนาที โดยทำงานได้สูงสุด 30,511 รอบต่อนาที ทั้งยังสร้างกำลังสูงสุดได้ 580 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเช่นกันของมอเตอร์ไฟฟ้า Mass Production
สมรรถนะของมอเตอร์ไฟฟ้าของ BYD ถือว่าเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด V12 และมีความหนาแน่นของพลังงานในอัตรา 16.4 กิโลวัตต์ / กิโลกรัม นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรม เพื่อให้รองรับกับสมรรถนะทั้งหมดนี้ จึงมีการนำ silicon carbide power chips มาใช้ด้วยซึ่งรองรับกระแสไฟสูงสุด 1,500 โวลต์ งานวิศวกรรม Super e-Platform พร้อมประเดิมใน BYD Han L EV ตัวถัง Sedan และ BYD Tang L EV ตัวถัง SUV ซึ่งพร้อมเปิดรับคำสั่งซื้อแล้วในประเทศจีน ก่อนถึงกำหนดการเปิดตัวเต็มรูปแบบ ภายในเดือนเมษายนนี้
เบื้องต้น ทั้งสองรุ่นมาพร้อมกับระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ God’s Eye B ซึ่งทำงานร่วมกับเซนเซอร์ LiDAR บนหลังคา ในส่วนของ BYD Han L EV ขับได้ไกลสุด 701 กิโลเมตร เร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 2.7 วินาที สนนราคาช่วง Pre-Sales ที่จีน 270,000 – 350,000 หยวน (ราว 1,260,000 – 1,630,000 บาท) อีกรุ่นอย่าง BYD Tang EV ขับได้ไกลสุด 670 กิโลเมตร เร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 3.6 วินาที สนนราคาช่วง Pre-Sales ที่จีน 280,000 – 360,000 หยวน (ราว 1,307,000 – 1,680,000 บาท)
ที่มา: cnevpost, carnewschina