ปิดฉากไปเรียบร้อยสำหรับงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 หรือ มอเตอร์โชว์ 2024 (Motor Show 2024) ที่ในปีนี้แม้ว่าจะมีปัจจัยลบของตลาดอย่างมาก ตั้งแต่ สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว, หนี้ครัวเรือนสูง, กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว รวมไปถึง ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) แต่ก็ยังทำให้ตัวเลขยอดจองรวมทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ปิดบวกไปกว่า 27.5 % หรือมีตัวเลขรวมอยู่ที่ 58,611 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 53,438 คัน และ รถจักรยานยนต์ 5,173 คัน และมีตัวเลขผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 1.6 ล้านคน
สาเหตุในการเติบโตของยอดจองครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก การเข้าสู่ตลาดของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์หน้าใหม่ในตลาดรถยนต์ประเทศไทยที่ใช้เวทีดังกล่าวเป็นการแนะนำตัวลงสู่ตลาดนี้ โดยเฉพาะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสัญชาติจีนและเวียดนาม ที่ได้เปิดตัวแบรนด์และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ลงสู่ตลาดในหลากหลายรุ่นพร้อมผู้เล่นรายเก่าที่มีการใช้ “สงครามราคา” เป็นตัวดึงดูดปลุกกระแสการตอบรับของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยยอดจองภายในงานกว่า 17,517 คัน หรือกว่า 32.78% เป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากทุกสัญชาติ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปยอดจองรถยนต์ในงาน Motor Show 2024 ครั้งที่ 45 (25 มี.ค. – 7 เม.ย. 65) : รวม 53,438 คัน (+24.6%)
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบตัวเลขยอดจองของงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ย้อนหลังกลับไป 10 ปี จะเห็นได้ถึงทิศทางแนวโน้มของสถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละช่วง โดย Autolifethailand ได้รวบรวมมาดังนี้
บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 หรือ มอเตอร์โชว์ 2023 มียอดจองรวมทั้งสิ้น 45,983 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 42,885 คัน และ รถจักรยานยนต์ 3,098 คัน โดยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีสัดส่วนอยู่ที่ 21.53% ของยอดจองภายในงาน
- บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 หรือ มอเตอร์โชว์ 2022 มียอดจองรวมทั้งสิ้น 33,936 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 31,896 คัน และ รถจักรยานยนต์ 2,040 คัน โดยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีสัดส่วนอยู่ที่ 10% ของยอดจองภายในงาน
- บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42 หรือ มอเตอร์โชว์ 2021 มียอดจองรวมทั้งสิ้น 27,868 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 26,713 คัน และ รถจักรยานยนต์ 1,155 คัน
- บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 หรือ มอเตอร์โชว์ 2020 มียอดจองรวมทั้งสิ้น 22,791 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 18,381 คัน และ รถจักรยานยนต์ 4,410 คัน
- บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 40 หรือ มอเตอร์โชว์ 2019 มียอดจองรวมทั้งสิ้น 49,278 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 37,769 คัน และ รถจักรยานยนต์ 5,343 คัน
- บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 หรือ มอเตอร์โชว์ 2018 มียอดจองรวมทั้งสิ้น 42,499 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 36,587 คัน และ รถจักรยานยนต์ 5,912 คัน
- บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 38 หรือ มอเตอร์โชว์ 2017 มียอดจองรวมทั้งสิ้น 34,942 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 31,031 คัน และ รถจักรยานยนต์ 2,892 คัน
- บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 37 หรือ มอเตอร์โชว์ 2016 มียอดจองรถยนต์รวมทั้งสิ้น 32,571 คัน
- บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 36 หรือ มอเตอร์โชว์ 2015 มียอดจองรถยนต์รวมทั้งสิ้น 37,027 คัน
- บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 35 หรือ มอเตอร์โชว์ 2014 มียอดจองรถยนต์รวมทั้งสิ้น 57,058 คัน
ขณะที่ เมื่อพิจาณาจากตัวเลขของงาน “Motor Show” ย้อนหลัง 10 ปี ตัวเลขยอดจองมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นและลดลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ๆ อาทิ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิท-19 ในช่วง 3 ปี ตั้งแต่การจัดงานครั้งที่ 41-43 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรือแม้กระทั่งการเพิ่มปริมาณของแบรนด์รถยนต์ใหม่ก็มีผลเช่นเดียวกันที่ทำให้ยอดจองภายในงานขยายตัว เช่นเดียวกับสัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าที่นับตั้งแต่การจัดงานในครั้งที่ 43 ถึงปัจจุบัน ทยอยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยยะสำคัญ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ยอดจอง 32.78% ของรถยนต์ไฟฟ้าใน Motor Show 2024 สะท้อนอะไร?
อย่างไรก็ตาม “ตัวเลขยอดจอง” ในงานแม้ว่าอาจจะไม่ได้สามารถแปลงค่าออกมาเป็น “ตัวเลขจดทะเบียน” ได้อย่างครบถ้วน 100% เนื่องจากผลการอนุมัติและการตามเก็บเอกสารหลังจากจบงานแล้วเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลลัพธ์ของงานดังกล่าวจะไปมีผลอีกครั้งในยอดจดทะเบียนของเดือน เมษายน และ พฤษภาคม ซึ่งจะเป็นสัดส่วนที่มากหรือน้อยนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย
ไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดของการอมุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ที่ในเวลานี้ก็เข้มงวดเสียเหลือเกิน ด้วยเหตุผลทางด้านปัจจัยเศรษฐกิจและอัตราหนี้เสียรวมถึงหนี้ครัวเรือนสูงทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายหรือการชำระหนี้ของผู้บริโภค โดยสิ่งที่ไฟแนนซ์เอื้ออำนวยได้มากที่สุดสำหรับการให้ผู้บริโภคเป็นเจ้าของรถได้ก็คือ เงินดาวน์ ที่ในวันนี้อัตราเงินดาวน์อย่างต่ำ ๆ ก็ต้องมี 25-30% ขึ้นไปของราคารถ ภาระหนักก็ตกมาอยู่กับผู้ที่ต้องการใช้รถอีกซึ่งถ้ามีเงินดาวน์ก็ดีไป แต่ที่เห็นว่าไม่ผ่านการอนุมัติส่วนใหญ่ก็จะติดที่ปัญหาเงินดาวน์ส่วนนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Toyota หั่นคาดการณ์ตลาดรถยนต์ปี’67 ลงอีก 9% เหตุเศรษฐกิจหดตัวแรง
งาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 นี้ ที่เห็นตัวเลขยอดจองสูงในระดับราว ๆ 5.8 หมื่นคัน ซึ่งจะเรียกได้ว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี จากข้อมูลดังกล่าวก็ว่าได้ จะเป็นตัวแปรสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในปี 2567 นี้ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักจากปัจจัยลบแวดล้อมต่าง ๆ ข้างต้น ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง โตโยต้า ได้ออกมาประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์ตลาดจาก 7.8-8 แสนคัน ลงเหลือ 7.3 แสนคัน
ซึ่งอาจจะสวนทางกับ “ยอดจอง” ที่เกิดขึ้นในงาน มอเตอร์โชว์ มากพอสมควร ฉะนั้นคงจะต้องจับตาดู “ตัวเลขจดทะเบียน” ของกรมขนส่งทางบก ในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ ที่จะเป็นตัวสะท้อนทิศทางของอุตสาหกรรมหลังจากสิ้นสุด Motor Show ว่าสุดท้ายแล้วเวทีการแข่งขันที่ร้อนแรงซึ่งมียอดจองมหาศาล จะเป็นส่วนช่วยในการพยุงอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยไว้ได้หรือไม่