นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานพิธีเปิดงาน มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 หรือ มอเตอร์เอ็กซ์โป 2024 (Motor Expo 2024) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมคณะผู้บริหารได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21-23 พ.ย. 2567 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย–ญี่ปุ่น รวมทั้งหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รวมไฮไลท์รถเด่นในงาน “Motor Expo 2024” เปิดตัวมากกว่า 20 รุ่น
ทั้งนี้ ในการเข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว ได้มีการหารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็น Product champion ได้แก่ รถปิคอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัป (Disrupt) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (xEV)
“ผลการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่น ได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย และจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) และรถยนต์ไฮบริด เพื่อตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก (ทั้งในรูปแบบของ รถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนครบชุด) โดยคาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท”
นอกจากนั้น ยังได้รับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการที่เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งในส่วนของมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาระดับการผลิตของโรงงาน เช่น มาตรการกระตุ้นตลาด การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นต้น และ มาตรการระยะกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เช่น การจัดการซากรถยนต์เก่า (End-of-Life Vehicles) มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นขอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน และเร่งส่งเสริมการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะในโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดและชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งคาดว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในปีนี้
สำหรับ กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะผู้บริหาร ได้ประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้สร้างฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัทแบบตัวต่อตัว ณ สำนักงานใหญ่/สำนักงานสาขากรุงโตเกียว โดยได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัทรถยนต์จำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วยผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัทได้แก่
- นายอากิโอะ โตโยดะ (Mr. TOYODA Akio) ประธานกรรมการบริหารกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น
- นายมาซาฮิโร โมโร (Mr.MORO Masahiro) กรรมการผู้จัดการ ประธาน และ CEO บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น
- นายทาคาโอะ คาโตะ (Mr.KATO Takao), กรรมการบริหาร ประธาน และ CEO บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น
- นายชินสึเกะ มินามิ (Mr.MINAMI Shinsuke), ประธาน และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส ลิมิเต็ด ญี่ปุ่น
รวมถึงผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ นางอาซาโกะ โฮชิโนะ (Ms.HOSHINO Asako), รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด (NML) และนายชินจิ อาโอยามะ (Mr.AOYAMA Shinji), กรรมการ, รองประธานบริหารและกรรมการบริหารบริษัทฮอนด้ามอเตอร์คอร์ปอเรชั่น
นายเอกนัฏ กล่าวว่า ตนได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยหดตัวลงอย่างมาก สาเหตุหลักเนื่องจาก ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้ง ปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ที่ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็น Product Champions ของไทย ได้แก่ รถปิกอัพ และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car)
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2567 จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน ปรับลดมาเป็น 1.7 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ เหลือเพียง 550,000 คัน ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศยังคงยึดเป้าหมายเดิม คือ 1.15 ล้านคัน โดยตนได้ให้ความมั่นใจกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 4 ของปี 2567 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับ รัฐบาลได้พยายามปลดล็อคเรื่องการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด และอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus) และการจับจ่ายใช้สอย จึงมั่นใจได้ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า (2568) จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน