CHANGAN Automobile เปิดโรงงาน ฉางอาน ออโตโมบิล ระยอง (CHANGAN Automobile Rayong Factory) ปักธงฐานการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ครบวงจรแห่งแรกในต่างประเทศ ที่จังหวัดระยอง ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการขยายธุรกิจระดับโลก, ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย
โรงงานดังกล่าวใช้เงินลงทุนมูลค่า 10,000 ล้านบาท ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 250 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่สำหรับดำเนินการผลิตอย่างครบวงจร อาทิ การเชื่อมประกอบตัวถัง, การพ่นสี, การประกอบเครื่องยนต์ และการประกอบแบตเตอรี่ มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 100,000 คันต่อปี และตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 200,000 คันในเฟสที่สอง ซึ่งในช่วงเริ่มต้นมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศอยู่ที่ 40% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในอนาคต
ทั้งนี้ มีเป้าหมายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคและตลาดรถพวงมาลัยขวาที่สำคัญ ครอบคลุมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยยึดมั่นในกลยุทธ์ ‘In Thailand, For Thailand’ โดยโรงงานแห่งนี้จะช่วยลดระยะเวลาจากการสั่งซื้อถึงการส่งมอบจาก 21 วันเหลือเพียง 15 วัน
โรงงานแห่งนี้ซึ่งใช้หุ่นยนต์ 39 ตัวในพื้นที่เชื่อมประกอบตัวถัง และใช้หุ่นยนต์ 29 ตัวสำหรับกระบวนการพ่นสีที่ต้องอาศัยความละเอียดสูงเพื่อให้สีบนตัวรถมีความทนทานมากกว่า 10 ปี พร้อมทั้งลดการปล่อยมลภาวะได้ถึง 40%
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ฉางอาน เริ่มเดินสายพานการผลิตในไทยมูลค่าลงทุน 1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติ 18 ระบบและแบบกึ่งอัตโนมัติ 125 ระบบ จึงสามารถผลิตรถยนต์หลายรุ่นที่ใช้ระบบส่งกำลังต่างกันได้พร้อมกัน ทั้งยังมีระบบดิจิทัลช่วยให้ดำเนินงานและจัดการผ่านออนไลน์ได้ 100%
ขณะเดียวกัน เป็นโรงงานผลิตแบบครบวงจรแห่งแรก โดยมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพกว่า 90% เป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อการสร้างความมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ จึงมีระบบตรวจเช็กคุณภาพของ ฉางอาน (CHANGAN Quality Operating System) หรือ CAQOS ด้วยกล้อง 77 ตัว, 62 จุดตรวจสอบข้อผิดพลาด, 26 จุดติดตาม และ 45 จุดตรวจคุณภาพ
อีกทั้ง ยังได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงและกระบวนการทำงานที่ทันสมัยและปล่อยคาร์บอนต่ำ โดย ฉางอาน มีแผนที่จะติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 14 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ 45% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในโรงงาน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบระบายอากาศหมุนเวียน, ระแนงระบายความร้อน, การใช้แสงธรรมชาติ, และระบบรีไซเคิลน้ำฝน คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนพลังงานลง 20%
ขณะที่ การเปิดโรงงานยังจะสร้างโอกาสการจ้างงานมากกว่า 30,000 ตำแหน่งตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย