ปิดฉากลงแล้วสำหรับงาน มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 หรือ มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 (Motor Expo 2024) เวทีสุดท้ายของปี 2567 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ที่ถือเป็นตัวชี้วัดกำลังซื้อของผู้บริโภครวมถึงกระแสความต้องการและความนิยมของตลาด โดยเฉพาะในปีนี้ที่ถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมที่มีหลากหลายปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจ, การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมถึง อัตราหนี้ครัวเรือนและหนี้เสียในประเทศ ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายตลาดในปีนี้
นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” เปิดเผยว่า งาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 ประสบความสำเร็จอย่างสูง และมีส่วนช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้ที่ซบเซาให้กลับมาคึกคัก พร้อมสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทย จึงขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้อุปถัมภ์ ผู้สนับสนุน ค่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปยอดจองรถยนต์ในงาน Motor Expo 2024 ครั้งที่ 41 (28 พ.ย. – 10 ธ.ค. 67) : รวม 54,634 คัน (+0.6%)
สำหรับยอดจองรถในงาน แบ่งเป็นรถยนต์ 54,513 คัน จักรยานยนต์ 7,982 คัน และจากข้อมูลผู้ร่วมกิจกรรม “ซื้อรถ…ชิงรถ” พบว่า มีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่าปีที่แล้ว โดยเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ (สันดาป, ไฮบริด และปลั้กอิน-ไฮบริด) 58.7 % และรถยนต์ไฟฟ้า 41.3 %
ราคาเฉลี่ยของรถยนต์ที่ขายได้ในงาน 1,259,928 บาท รถจักรยานยนต์เฉลี่ย 191,063 บาท เงินหมุนเวียนในงานราว 5.5 หมื่นล้านบาท ผู้เข้าชมงาน 1,426,044 คน
Autolifethailand ได้สอบถามไปยังผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ถึงกระแสตอบรับในการจัดงานของผู้บริโภคและผลสรุปของการจัดงานสะท้อนอย่างไรต่อภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปี 2567-2568
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สถิติย้อนหลัง 3 ปี ยอดจอง-จำนวนแบรนด์ งาน Motor Expo เพิ่มต่อเนื่อง
นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า งานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 41 หรือ มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่มีผลในการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้า รวมถึงการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีแคมเปญส่งเสริมการตลาด ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ในแง่ของผู้ประกอบการเองต้องปรับตัวด้านกลยุทธ์ทางการตลาดมากพอสมควร
ทั้งนี้ SUZUKI ได้มีการคาดการณ์สถานการณ์การแข่งขันของแคมเปญที่รุนแรงก่อนเริ่มงาน ซึ่งประเมินจากความเป็นจริงของตลาด ซึ่งผลตอบรับของ ซูซูกิ ในการเข้าร่วมงานครั้งนี้มียอดจองอยู่ที่ 1,012 คัน ถือได้ว่าพอใจกับยอดจองดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงมีต่อแบรนด์ภายหลังการประกาศยุติการผลิตในประเทศไทยจากผลตอบรับของยอดจองในงาน
ขณะที่ สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้ของภาพรวมตลาดคือการพิจารณาสินเชื่อของยอดจองที่เกิดขึ้นในงานให้เป็นยอดขายหรือยอดจดทะเบียน โดยที่ต้องติดตามว่าผู้บริโภคจะรับรถภายในปี 2567 นี้หรือไม่ เพราะหากสิ้นปีไม่รับรถแล้วในปี 2568 จะรับรถหรือไม่ เนื่องจากอีกไม่นานก็จะมี งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ อีก
สำหรับในปี 2568 มองว่าภาพรวมตลาดจะยังทรงตัวเนื่องจากอาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของการพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออย่างชัดเจน ซึ่งต้องติดตามอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งมองว่ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนานย่อม (SMEs) อาจจะยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโครงสร้างธุรกิจ โดยจะส่งผลต่อรถยนต์กลุ่ม รถยนต์นั่งและรถกระบะ จากเศรษฐกิจที่ยังทรงตัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 10 อันดับ ยอดจองรถจักรยานยนต์สูงสุดในงาน Motor Expo 2024
นายภัทรพงษ์ อชะปาละศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยองจองที่เกิดขึ้นภายในงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 มีผลตอบรับที่ดีจากการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายต่างจัดโปรโมชั่นและการลดราคาในช่วงปลายปี อีกทั้งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่สามารถกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
นอกจากนี้ การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินยังเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งมอบอยู่ ซึ่งยอดจองที่เกิดขึ้นภายในงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป และยอดจดทะเบียนของกรมขนส่งทางบกอาจจะไม่ได้สอดคล้องกัน โดยมองว่าภาพรวมยอดขายของตลาดรถยนต์ในปี 2567 นี้ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ยอดจองในงาน Motor Expo 2024 ของ BMW อยู่ที่ 1,331 คัน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเปรียบเทียบยอดจองภายในงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป ตลอดช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ยอดจองของ BMW ในงานปีนี้สูงที่สุด ส่วน MINI มียอดจองภายในงานอยู่ที่ 230 คัน เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และนับเป็นสถิติยอดจองที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2561
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากยอดจองภายในงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป แล้ว สิ่งที่ควรต้องพิจารณาอีกอย่างหนึ่งคือตัวเลขการจดทะเบียนรถยนต์ประกอบกันด้วย ซึ่งในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปีนี้ BMW มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 11,532 คัน และมีสัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในกลุ่มพรีเมียมเซ็กเมนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่กว่า 41%
จากประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมียอดจองที่เกิดขึ้นภายในงานซึ่งมาจากปัจจัยบวกของการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่, การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อมีผลลัพธ์ออกมาเป็น “ตัวเลขยอดจอง” ภายในงานดังกล่าว แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาควบคู่กันคือ “ตัวเลขยอดจดทะเบียน” ที่จะเป็นบทสรุปสุดท้ายของผลลัพธ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่แม้ว่าจะมีกำลังซื้อ มีความต้องการ มีกระแส แต่ผู้บริโภคจะสามารถฝ่าด่านความเข้มงวดของพิจารณาสินเชื่อที่จะเป็นตัวแปลงให้ “ตัวเลขยอดจอง” เปลี่ยนเป็น “ตัวเลขยอดจดทะเบียน” ได้หรือไม่ในที่สุด