ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 เมษายน 2568 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตรา ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่กรมสรรพสามิตเสนอ เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขภาษี รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) ดังนี้
- ให้มีอัตราภาษีที่แตกต่างจากรถยนต์ Hybrid Electric Vehicle (HEV)
2. กำหนดเงื่อนไขการคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตเฉพาะระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range) ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง (การชาร์จ) เท่านั้น
3. ยกเลิกขนาดถังน้ำมัน (Fuel Tank) ให้ไม่เป็นเงื่อนไขการกำหนดอัตราภาษี ปลั๊กอินไฮบริด อีกต่อไป เนื่องจากเป็นการลดศักยภาพของประเทศในการเป็นศูนย์กลางการผลิต เพราะต้องผลิตถังน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการสร้างข้อจำกัดโดยไม่จำเป็น สร้างภาระแก่ประชาชน และทำให้ ปลั๊กอินไฮบริด ไม่ได้รับความนิยม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘บอร์ดอีวี’ เคาะมาตรการลดภาษีรถ HEV คาดหนุนการลงทุน 5 หมื่นล้าน
โดยอัตราภาษีสรรพสามิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 มีผลดังนี้
- รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ปลั๊กอินไฮบริด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ที่มีระยะวิ่งด้วยระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range) ไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง (การชาร์จ) ให้มีอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 5%
- รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ปลั๊กอินไฮบริด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ที่มีระยะวิ่งด้วยระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range) ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง (การชาร์จ) ให้มีอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 10%
การกำหนดพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและต่อยอดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ PHEV ที่มีมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสันดาปภายในไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต อีกทั้งยังช่วยตอบสนองต่อความต้องการใช้รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ที่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในเขตตัวเมือง และใช้พลังงานผสมในการเดินทางระหว่างเมือง