ปิดฉากลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 46 หรือ มอเตอร์โชว์ 2025 (Motor Show 2025) ในสภาวะตลาดที่มีความท้าทาย จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ (ไฟแนนซ์) รวมถึง สถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว อีกทั้งภาวะหนี้ครัวเรือนสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้หลายฝ่ายมีการคาดการณ์ตลาดรถยนต์ในปีนี้ จะทรงตัวหรือลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่ผ่านมา
ในงานครั้งนี้มียอดจองรวมอยู่ที่ 77,379 คัน เพิ่มขึ้น 44.8% เมื่อเทียบกับการจัดงาน Motor Show 2024 ที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 53,438 คัน โดยก่อนการจัดงาน นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงานฯ ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ยอดจองในงานปี 2568 นี้ คาดว่าจะเติบโตขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Motor Show 2025 คาดยอดจองในงานโต 10% สวนทางตลาดทรงตัว
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างยอดจองภายในงานกับตัวเลขตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีดังนี้
- ปี 2567 ยอดจองใน มอเตอร์โชว์ อยู่ที่ 53,438 คัน ส่วน ตลาดรถยนต์ อยู่ที่ 5.73 แสนคัน
- ปี 2568 ยอดจองใน มอเตอร์โชว์ อยู่ที่ 77,379 คัน ส่วน ตลาดรถยนต์ คาดการณ์อยู่ที่ 5.3-5.8 แสนคัน
ดังนั้นเอง ตัวเลขยอดจองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จึงถือได้ว่าสวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยต่าง ๆ เช่นเดียวกับตัวเลขที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่ผู้จัดงานคาดการณ์ไว้ ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ Autolifethailand ได้รวบรวมมานำเสนอไว้ในคอนเทนต์นี้
คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “สงครามราคา” และโปรโมชั่นที่ยังคงเกิดขึ้นในงานจัดแสดงรถยนต์ในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เป็นภาคขยายให้โปรโมชั่นและการลดราคามีผลชัดเจนขึ้น คือการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ภายในงาน โดยเฉพาะเป็นกลุ่มรถยนต์ที่ราคาเข้าถึงจับต้องได้ง่ายอย่าง รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (B-Segment) และ รถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็ก (B-SUV) เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า 100% อาทิ Aion UT, Deepal S05, MG S5 EV, Mitsubishi XFORCE เป็นต้น
นอกจากนั้น การที่ภาครัฐออกนโยบาย “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ “บสย. SMEs PICK-UP” ที่เปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป ซึ่งสอดคล้องกับในช่วงเวลาการจัดงานแบบพอดิบพอดี ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้บรรยากาศการซื้อในช่วงเวลาการจัดงานเป็นไปในทิศทางบวก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ISUZU เผยยอดขาย 2 เดือนลดลง 16.8% หวังมาตรการรัฐกระตุ้น
แม้ว่าระหว่างการจัดงานจะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อประเทศไทยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน จนกระทั่งมีการต้องอพยพประชาชนในตึกสูงและอาคาร เช่นเดียวกันที่ อาคารอิมแพค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน Motor Show 2025 ก็ต้องมีการอพยพผู้เข้าร่วมชมงานและพนักงานขายภายในงานออกนอกพื้นที่เช่นเดียวกัน ทำให้งานต้องหยุดการดำเนินกิจกรรมไปชั่วคราว ก่อนที่จะใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง ตรวจสอบความปลอดภัยและกลับมาดำเนินกิจกรรมอีกครั้ง
อีกทั้ง เกมการแข่งขันของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในงานนี้ต่างใช้กลยุทธ์ ลับ–ลวง–พราง ดึงเกมชิงไหวชิงพริบกัน ทั้งการเปิดตัวแต่ไม่ประกาศราคา หรือ เปิดตัวไปแล้วมีการใส่แคมเปญเพิ่ม เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขัน ทำให้งานนี้แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนติดติดอยู่ใน ท็อป 5 แบรนด์ที่มียอดจองรถยนต์สูงสุดในงานถึง 3 แบรนด์ ด้วยกัน
5 อันดับแรก ยอดจองรถยนต์ภายในงาน Motor Show 2025
- อันดับ 1 BYD มียอดจองรถยนต์รวมอยู่ที่ 10,353 คัน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดราคาทุกรุ่นสูงสุดกว่า 100,000 บาท โดยรุ่นที่มียอดจองสูงที่สุดของแบรนด์คือ BYD Bolphin จำนวนกว่า 4,000 คัน และ รองลงมา BYD Sealion 7 จำนวน 2,038 คัน และ BYD ATTO 3 จำนวน 2,019 คัน
- อันอับ 2 TOYOTA มียอดจองรถยนต์รวมอยู่ที่ 9,615 คัน
- อันดับ 3 GAC มียอดจองรถยนต์รวมอยู่ที่ 7,018 คัน จากการเปิดตัว AION UT ที่เปิดราคาเริ่มต้น 49x,xxx บาท ได้รับความนิยมจากผู้ที่สนใจอย่างมาก
- อันดับ 4 DEEPAL มียอดจองรถยนต์รวมอยู่ที่ 6,589 คัน โดยรถรุ่นที่ได้รับความนิยมจากผู้ที่สนใจคือ DEEPAL S05 ที่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานนี้
- อันดับ 5 HONDA มียอดจองรถยนต์รวมอยู่ที่ 5,948 คัน
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากระแสความนิยมของผู้บริโภคแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% กับ รถยนต์พลังงานไฮบริด (HEV) ซึ่งในส่วนแรกจะเห็นได้ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนอย่าง BYD Bolphin, AION UT, DEEPAL S05 ยังไม่นับรวมกับแบรนด์ที่ไม่ได้ติดท็อป 5 อีกอย่าง MG S5 EV, MG4 ที่ก็มียอดจองทำให้แบรนด์ MG อยู่ในอันดับที่ 6 โดยในกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันกันดุเดือดทั้ง การตั้งราคา และ การลดราคา สุดท้ายทำให้ผลลัพธ์ออกมาด้วยอดจองข้างต้น
ส่วนที่ 2 รถยนต์พลังงานไฮบริด จากผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น 2 แบรนด์ที่ติดในอันดับ ท็อป 5 ซึ่งโฟกัสรถยนต์ในกลุ่มไฮบริดเป็นหลักในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาด ยังไม่นับรวมกับแบรนด์ที่ไม่ได้ติดท็อป 5 อีก อย่าง Mitsubishi XFORCE ที่ก็มียอดจองทำให้แบรนด์ Mitsubishi อยู่ในอันดับที่ 8 และตามมาด้วย Nissan SERENA เทคโนโลยี e-Power กับราคาค่าตัวที่เหมาะสมกับตัวรถ ทำให้แบรนด์ Nissan อยู่ในอันดับที่ 9 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคตอบรับเทคโนโลยีดังกล่าวสอดคล้องกับเทรนด์การเติบโตของ HEV ที่กลับมาอีกครั้ง ประกอบกับ การอัดแคมเปญส่วนลดที่ไม่น้อยหน้าเช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Toyota ชี้มาตรการค้ำประกันสินเชื่อรถกระบะ กระตุ้นยอดได้ตรงจุด
อย่างไรก็ตาม อีกทั้งนโยบาย “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ดันให้รถกลุ่มกระบะของ TOYOTA ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่กล้าตัดสินใจจองมากขึ้น เช่นเดียวกับการตั้งราคาที่ถูกต้องของ GWM TANK 300 Diesel ที่เริ่มต้น 9.9 แสนบบาท ทำให้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) มียอดจองระเบิดระเบ่อ มียอดจองในกว่า 4,900 คัน อยู่ในอับดับที่ 7
ด้านจำนวนผู้เข้าชมงานในปีนี้อยู่ที่ 1,601,011 คน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และยอดจองรวมทั้งหมดอยู่ที่ 79,941 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 77,379 คัน และ รถจักรยานยนต์ 2,562 คัน ส่วนเทคโนโลยี xEV มียอดจองอยู่มากกว่า 65% โดยเฉพาะประเภทเอสยูวีที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนรถเครื่องยนต์สันดาปมีสัดส่วนอยู่ที่ 35%
บทสรุปของ Motor Show 2025 ครั้งนี้ ถือได้ว่า หักปากกาเซียน ! สวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บรโภค รวมถึง หนี้ครัวเรือน และ ไฟแนนซ์เข้มงวด ซึ่งหลังจากนี้จะต้องติดตามการผันแปรของ “ยอดจอง” เป็น “ยอดจดทะเบียน” ในอีก 2-3 เดือนจากนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันตัวเลขของอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2568 นี้ ได้มากน้อยเช่นไร แต่สัญญาณยอดจองของงานนี้นับได้ว่าเป็นทิศทางบวกในด้านการสร้างบรรยากาศของตลาดรถยนต์ไทยได้ไม่น้อย