นาย อากิโอะ โตโยดะ (Akio Toyoda) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวบนเวทีงาน CES 2025 ว่า เมืองต้นแบบแห่งอนาคต Toyota Woven City ระยะที่ 1 (เฟส 1) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2568 พร้อมเปิดตัวโครงการสนับสนุนสำหรับสตาร์ทอัพ (Startup) และ บุคคลทั่วไปที่มีแรวคิดสร้างสรรค์เพื่อเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีในเมืองต้นแบบแห่งนี้
สำหรับ กาประกาศประกาศเปลี่ยนแปลงบริษัทสู่การเป็นบริษัทแห่งการขับเคลื่อนเกิดขึ้นครั้งแรกในงาน CES 2018 และในงาน CES2020 ได้เผยแนวคิดเมืองต้นแบบแห่งอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในระยะยาวของ โตโยต้า ในการกำหนดอนาคตแห่งการขับเคลื่อน
Toyota Woven City วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ที่ตั้งเดิมของโรงงานฮิกาชิ–ฟูจิของ โตโยต้า มอเตอร์ ในเมืองซูโซโนะ จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ถูกออกแบบให้เป็นสนามทดลองเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน การขนส่ง และการใช้ชีวิตในเมือง โดยมีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดรนขนส่งทางอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : TOYOTA ประกาศลงทุน 7,000 ล้านเยนใน Interstellar ผลิตจรวดสู่อวกาศ
โตโยต้า ได้วางรากฐานการพัฒนาบน 4 เสาหลัก ได้แก่
- พลังงาน – พัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และไฮโดรเจน เพื่อให้เมืองสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้
- การขนส่ง – ทดสอบและพัฒนายานยนต์ไร้คนขับหลากหลายรูปแบบ และสำรวจเทคโนโลยีที่อาจนำไปสู่การขับเคลื่อนในอวกาศ
- ผู้คน – สร้างชุมชนที่ยึดผู้คนเป็นศูนย์กลาง โดยมีเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิต
- ข้อมูล – สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลที่ปลอดภัย เพื่อเชื่อมโยงทุกส่วนของเมืองและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ โตโยต้า จะเริ่มรับสมัครบริษัทและบุคคลที่ต้องการเข้าร่วมโครงการในปีนี้ โดยมีโครงการทุนสนับสนุนสำหรับผู้ที่มีไอเดียสร้างสรรค์และแผนธุรกิจที่น่าสนใจที่ได้รับคัดเลือก บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจะได้ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีในสภาพแวดล้อมจริงของเมืองต้นแบบแห่งอนาคตดังกล่าว
สำหรับผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกจะมีราว 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานของ โตโยต้า และ ครอบครัว จากนั้นชุมชนจะค่อยๆ ขยายออกไปครอบคลุมนักประดิษฐ์ภายนอกและครอบครัวของพวกเขา ระยะที่ 1 คาดว่าจะรองรับผู้อยู่อาศัยได้ประมาณ 360 คน โดยจำนวนประชากรทั้งหมด รวมถึงระยะที่ 2 และระยะต่อๆ ไป คาดว่าจะสูงถึงประมาณ 2,000 คน
อย่างไรก็ตาม เมืองต้นแบบแห่งอนาคต ทำหน้าที่เป็นหลักสูตรทดสอบการเปลี่ยนแปลงของ โตโยต้าสู่บริษัทแห่งการขับเคลื่อน ซึ่งร่วมกันตั้งเป้าที่จะกำหนดนิยามใหม่ของการคมนาคม โดยขยายขอบเขตนอกเหนือจากการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้ครอบคลุมการเคลื่อนย้ายผู้คน สินค้า ข้อมูล และพลังงาน เพื่อประโยชน์ของบุคคลและสังคม ได้รับการออกแบบให้เป็นเมืองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการแสวงหา “ความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน” ร่วมกัน ด้วยความสนใจในการขยายการเคลื่อนย้ายจากทางบก ทางทะเล และทางอากาศสู่อวกาศ