Autolifethailand ได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหารระดับสูง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (Toyota) ภายในงาน มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 หรือ มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 (Motor Expo 2024) ซึ่งมีการตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนจากทั้งในและต่างประเทศ
จากคำถามของผู้สื่อข่าวที่ถามว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยที่มีจากหนี้ครัวเรีอนสูงและการลดราคาทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อมากน้อยแค่ไหน และเพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมจะต้องให้รัฐบาลควบคุมหรือไม่โตโยต้ามีความเห็นอย่างไร
สถานการณ์สงครามราคาในปัจจุบันบริษัทขอยืนยันว่าจะไม่ประกาศลดราคาแบบไม่มีความสมเหตุผล เนื่องจากการศึกษาพบว่าการทำแคมเปญส่วนลดในเวลานี้ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งสงครามราคาในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% (EV) ที่ผู้บริโภคมองความคุมค่าเป็นหลัก
ทั้งนี้ บริษัทมองว่าหากแบรนด์นั้น ๆ ที่สามารถลดราคาได้ในระดับ 2-3 แสนบาท แล้วยังมีกำไรต้องถือว่าแบรนด์นั้นเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีซึ่งค่อนข้างตกใจ โดยการลดราคาจำนวนมากจะส่งผลต่อราคาขายต่อของรถยนต์มือสองอย่างแน่นอน
“โตโยต้า ไม่มีความคิดที่จะลดราคาและไม่มีความคิดที่จะขอให้รัฐบาลออกมาตรการควบคุมใด ๆ เนื่องจากเรามองการทำธุรกิจระยะยาวเป็นหลัก”
ขณะที่ Toyota ประเมินสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปี 2567 ถือว่ามีความยากลำบากซึ่งคาดว่ายอดขายในปีนี้น่าจะจบที่ระดับ 6 แสนคัน ซึ่งยอดขายเทียบเท่ากับปี 2552 ที่อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตลาดในปัจจุบันตกต่ำสุดในรอบ 14-15 ปี และหวังว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ
สำหรับ สถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงไตรมาส 3/2567 มีอัตราการขยายตัวในระดับ 3% และการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ของธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยเพราะมี จีดีพี อยู่ที่ 10% จึงหวังให้รัฐบาลมีมาตรการที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่กำลังตกอยู่ในความยากลำบากนี้ด้วย
ขณะที่ ตลาดรถกระบะเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งรถกระบะเป็นรถที่ขายดีของโตโยต้าซึ่งเชื่อว่าความต้องการของตลาดในประเทศยังมีอยู่ แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Sales Report ยอดขาย รถกระบะ Pick-up เดือน ตุลาคม 67 : Toyota Hilux Revo ครองแชมป์ | ตลาดรถกระบะยอดขายต่ำสุดในรอบปี
อย่างไรก็ตาม Toyota อยากให้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (ซัพพลายเออร์) 3 เรื่องด้วยกันได้แก่
- ต้องการให้รัฐบาลมีแผนระยะกลางและระยะยาวที่ตอบรับความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในการสนับสนุนการผลิตรถยนต์กลุ่มที่มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างสูง นั่นคือ รถปิกอัพ รถพีพีวี และรถอีโคคาร์
- การออกมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมในระยะสั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังประสบความยากลำบากดังเช่นในปัจจุบัน
- การสนับสนุนให้มีตัวเลือกยานยนต์ขับขี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่ BEV แต่ให้ครอบคลุมถึง FCEV, PHEV, HEV และรถยนต์ใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
“เราได้หารือใน หอการค้าญี่ปุ่น (JCC) และ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) ซึ่งได้ข้อสรุป 3 ดังกล่าวและจะนำเสนอภาครัฐต่อไป”
นอกจากนั้น มาตรการระยะสั้นข้างต้นมีที่มาที่ไปจากการกู้ไม่ผ่าน และเศรษฐกิจประสบความยากลำบาก อันมีสาเหตุมาจากสัดส่วนหนี้ต่อครัวเรือนสูงถึง 90 % ซึ่งต้องการให้รัฐบาลผ่อนผันเงื่อนไขการปล่อยกู้ และมีมาตรการช่วยให้ประชาชนสามารถซื้อรถได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมองว่าการเพิ่มสัดส่วนหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังนั้น การออกมาตรการที่สร้างสมดุลได้ระหว่างการซื้อรถได้ง่ายขึ้นและการไม่ก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่อยากจะให้รัฐบาลพิจารณาเพราะจะเป็นการช่วยผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย
นาย ยามาชิตะ กล่าวว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้พบปะกับ นาย อากิโอะ โตโยดะ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ที่กล่าวถึงมาตรการระยะกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เช่น การจัดการซากรถยนต์เก่า (End-of-Life Vehicles) มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น บริษัทมองว่าการมีมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ใช้รถเก่าได้เปลี่ยนมาใช้รถใหม่จะเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างยอดขายรถใหม่ไปพร้อมกันได้ เนื่องจากรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปีของไทยมีถึง 30 % ของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด และสร้าง PM2.5 สูงถึง 70% ของ PM2.5 ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น ให้ผู้ที่มีรถเก่ากว่า 20 ปี ขายรถทิ้งเป็นซาก แล้วซื้อรถเก่าอายุ 10 ปี หรือผู้ใช้รถเก่าอายุ 10-15 ปีขายรถเก่ามาใช้รถใหม่ เป็นต้น แนวความคิดนี้เรียกว่า ELV (End of Life Vehicle) เป็นมาตรการที่จะบังคับให้มีการบำบัดซากรถยนต์ให้ผู้ใช้รถเก่าเปลี่ยนมาใช้รถใหม่ซึ่งมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและการกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากมาตรการระยะกลางแล้วนั้น ยังมีการพูดคุยถึงการลงทุนของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 6 บริษัท ซึ่งรวมถึง โตโยต้า ที่จะมีการลงทุนมูลค่า 1.2 แสนล้านบาทในระยะเวลา 3-5 ปี จากนี้
นาย ยามาชิตะ กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขลงทุนเดียวกันกับการที่ นาย เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปพบปะผู้ประกอบการญี่ปุ่นครั้งก่อน ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้รัฐบาลไทยยืนยันการลงทุนของผู้ผลิตญี่ปุ่นอีกครั้ง ซึ่ง Toyota ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะลงทุนไม่น้อยการที่ได้แจ้งตัวเลขไว้อย่างแน่นอน