โตโยต้า หมดแรงยาหอมรัฐบาล คาดตลาดรถยนต์ปีนี้ตกลงอีก 6.7% เหลือแค่ 9.4 แสนคัน หลังปัจจัยลบเพียบทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซา เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอ และมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จัดแถลงข่าวยอดขายรถยนต์ปี 2562 และคาดการณ์ตลาดรวมรถยนต์ในประเทศปี 2563 โดยมี มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้แถลงข่าว
มร.ซึงาตะ มองว่าในปีที่ผ่านมา (2562) เป็นปีที่ยากลำบากในการทำตลาดรถยนต์เมืองไทย เนื่องจากยอดจำหน่ายในช่วง 4 เดือนหลังของปียอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายรวมรถยต์ในปีที่แล้วอยู่ที่ 1,007,552 คัน โดยลดลง 3% เมื่อเทียบกับยอดขายวนปี 2561 แต่ยังถือได้ว่าเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ของตลาดรถยนต์ไทยที่มียอดขายถึงระดับหนึ่งล้านคัน ถึงแม้ว่าตลาดรถยนต์มีการหดตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่เดือนกันยายนผ่านมา”
สำหรับการคาดการณ์ตลาดรถยนต์เมืองไทยในปีนี้ บิ๊กบอส “เบอร์1” โตโยต้า บอกว่าปีนี้นับเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งสำหรับตลาดรถยนต์ไทย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยยอดจำหน่ายรถยนต์รวมคาดว่าจะอยู่ที่ 940,000 คันลดลง 6.7% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 358,500 คัน ลดลง 10.0% และ รถเพื่อการพาณิชย์ 581,500 คัน หรือลดลง 4.5%
ทั้งนี้ การคาดการณ์ของโตโยต้า ที่คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์เมืองไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะยอดขาย “ต่ำล้าน” คัน ตั้งแต่ต้นปี ถือเป็นการ “หักหน้า” รัฐบาลไม่น้อยที่เวลานี้กำลังต้องการแรงสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่จะสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย
การคาดการณ์ยอดจำหน่ายตำ่ล้านของโตโยต้า สร้างความแปลกใจให้กับวงการไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาโตโยต้าจะเป็น “เด็กดี” ของรัฐบาลไทย ด้วยการตั้งเป้าการคาดการณ์ยอดจำหน่ายรถยนต์เมืองไทย “เกินจริง” อยู่เสมอเพื่อ “สร้างภาพ” ในเรื่องเศรษฐกิจที่ดีให้กับรัฐบาลเสมอ แต่ครั้งนี้ โตโยต้า กลับกลายเป็นค่ายรถยนต์ค่ายแรกที่ประกาศตัวเลขยอดขายรถยนต์ในปีนี้ว่า ต่ำกว่า 1 ล้านคัน!!
อย่างไรก็ตามเป้าหมายของโตโยต้าในปี 2563 มีเป้าหมายการขายที่ 310,000 คัน ลดลง 6.7% ส่วนแบ่งการตลาดที่ 33% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 103,000 คัน ลดลง 12.5% ส่วนแบ่งตลาด 28.7% ลดลง 0.8% รถเพื่อการพาณิชย์ 207,000 คัน ลดลง 3.6% ส่วนแบ่งตลาด 35.6% เพิ่มขึ้น 0.4%
นอกจากนี้ มร.ซึงาตะ ยังพูดถึงการยื่นขอรับการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้ากับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพิ่มเติมอีก 2 ประเภท ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) เมื่อต้นเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้โตโยต้ามอเตอร์ได้รับอนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) ว่าทางโตโยต้าต้องรอใบรับรอง (certificated) จาก BOI เสียก่อน หลังจากนั้นโตโยต้าต้องเริ่มลงทุนและผลิตรถปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ภายใน 3 ปี นับจากได้ใบรับรอง หรือภายในปี 2566 ส่วนรายละเอียดของโครงการนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้