มาสด้า กัดฟันเดินหน้าฝ่ามรสุมโควิดหลังครึ่งปีแรกส่งมอบลูกค้า 19,000 คัน เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เตรียมเสริมทัพทั้งเก๋งและเอสยูวีบุกตลาดครึ่งปีหลัง พร้อมอัดแคมเปญดาวน์ 0% ผ่อนนาน 60 เดือน กระตุ้นยอดขาย

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และขยายออกไปเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องหันมาระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมมียอดสะสมอยู่ที่ 370,000 คัน (ประมาณการ) แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าสถานการณ์ของตลาดรถยนต์จะค่อยๆ กลับมาดีขึ้น คาดว่ายอดขายรวมจะไปถึง 800,000 คัน ในขณะที่มาสด้าก็ตั้งเป้าหมายไว้สูงเช่นกันที่ 50,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 30%

ในขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มาสด้ามียอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ 18,908 คัน เพิ่มขึ้น 23% โดยรถยนต์นั่งมียอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ 10,895 คัน เพิ่มขึ้น 3% แบ่งออกเป็น
-มาสด้า2 จำนวน 9,622 คัน เพิ่มขึ้น 3%
-มาสด้า3 จำนวน 1,270 คัน เพิ่มขึ้น 1%
-มาสด้า MX-5 รถสปอร์ตเปิดประทุนมียอดขาย 3 คัน
ในขณะที่รถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์เอสยูวีมียอดจำหน่ายรวมที่ 7,347 คัน เพิ่มขึ้น 83%
-มาสด้า CX-30 ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดด้วยยอดจำหน่าย 4,194 คัน เพิ่มขึ้นถึง 124%
-มาสด้า CX-3 จำนวน 2,231 คัน เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 299%
-มาสด้า CX-8 มียอดจำหน่ายที่ 532 คัน ลดลง 26%
-มาสด้า CX-5 จำนวน 390 คัน ลดลง 54%
-มาสด้า บีที-50 มียอดจำหน่าย 666 คัน ลดลง 16%
ทั้งนี้ จากยอดจำหน่ายดังกล่าว เมื่อแบ่งออกเป็นรายไตรมาส จะพบว่ายอดขายไตรมาสแรกระหว่างมกราคม – มีนาคม 2564 มีจำนวน 10,890 คัน เพิ่มขึ้น 7% ส่วนไตรมาสที่สองระหว่างเมษายน – มิถุนายน 2564 มีจำนวน 8,018 คัน เพิ่มขึ้นถึง 53% ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของตลาด นับเป็นหนึ่งในสัญญาณบวกว่าความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ตาม ยังต้องคอยติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มทิศทางและนำมาปรับกลยุทธ์เพื่อประคับประคองธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

ด้านนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส กล่าวถึงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ว่ามาสด้าได้ปรับแผนงานเพื่อให้สอดรับกับเหตุการณ์ควบคู่ไปกับการสร้างแผนธุรกิจแบบเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อเตรียมพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤตเริ่มคลี่คลาย มาสด้าได้ประสานความร่วมมือกับผู้จำหน่ายทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับนโยบายแบบเร่งด่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุดไปยังลูกค้า
โดยเฉพาะมาตรการเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้า รวมถึงการมอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยร่วมมือกับทางบริษัทไฟแนนซ์ที่จะเข้ามาซัพพอร์ต อาทิ เงินดาวน์น้อย ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวนานที่สุด อัตราดอกเบี้ยต้องต่ำสุด ซึ่งหลายรุ่นมาสด้าจัดดอกเบี้ย 0% รวมถึงการผ่อนชำระต่องวดให้น้อยที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าและสามารถนำรถไปประกอบกิจการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ มาสด้า ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารงานเพื่อให้เกิดการเติบโตในช่วงวิกฤต เพราะในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ โดยมาสด้าได้เตรียมความพร้อมทางด้านกลยุทธ์การบริหารงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 เพื่อรับมือกับสถานการณ์และวางรากฐานผลักดันให้องค์กรเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ด้วย 6 องค์ประกอบหลัก ดังนี้
- ด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ เตรียมพร้อมลุยตลาดอย่างเต็มกำลังด้วยการนำเสนอรถยนต์นั่งและรถเอสยูวีรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัย ตอบรับวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่และสร้างความแตกต่างในตลาด ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและผลักดันให้มาสด้าเดินหน้าไปสู่เป้าจำหน่ายที่วางไว้ได้
- ด้านนโยบายส่งเสริมผู้จำหน่าย ปรับนโยบายการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์และให้การสนับสนุนด้านการขายกับผู้จำหน่ายในแต่ละพื้นที่ โดยทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดภายใต้แนวทางการทำงานเป็นทีม ONE MAZDA เพื่อให้ผู้จำหน่ายถ่ายทอดไปยังลูกค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดและก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน
- ด้านการตลาดและการสื่อสาร ดึงกลยุทธ์การตลาดแบบออนไลน์มาเป็นแกนหลักในการสื่อสารผ่าน Mazda Online Platform หรือโซเชียลมีเดีย เพิ่มการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ผ่านสื่อดิจิทัล ส่งเสริมให้ผู้จำหน่ายทำกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
- ด้านการส่งเสริมการขาย จัดแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์มาสด้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงทำงานร่วมกับสถาบันทางการเงิน ในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงจัดแคมเปญให้เหมาะสมสำหรับรถแต่ละรุ่น โดยร่วมมือกับพันธมิตรและผู้จำหน่ายจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากที่สุด
- ด้านเทคโนโลยี การวางรากฐานการทำงานระยะยาวให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการบริหารงานและติดต่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยเฉพาะผู้จำหน่ายต้องปรับตัวเข้ากับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล มาสด้าต้องเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมรับมือกับเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดประเทศไทยในเร็วๆ นี้
- ด้านบริการหลังการขาย ยกระดับและพัฒนาการบริการหลังการขายให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะแผนการขยายเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการ รวมถึงศูนย์บริการแบบ MAZDA FAST SERVICE ตรวจเช็กตามระยะแบบเร่งด่วนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รองรับปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดการรอคิว และอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับลูกค้าที่มาเข้ารับบริการ
นอกจากนี้ มาสด้ายังมอบโปรโมชั่นสุดพิเศษเพื่อให้ลูกค้าสามารถออกรถและเป็นเจ้าของรถมาสด้าทุกรุ่นได้ง่ายขึ้น ภายใต้แคมเปญ BEST DEAL ในระหว่างวันที่ 10 – 18 กรกฎาคม 2564 ดอกเบี้ยเริ่มต้น 0% ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน พร้อมฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง รับทันทีเครื่องฟอกอากาศ SHARP มูลค่า 2,990 บาท พิเศษสุดเฉพาะลูกค้าที่จองซื้อ CX-5 และ CX-8 (จำนวนจำกัด เฉพาะรุ่น) เลือกรับดอกเบี้ย 0% นาน 84 เดือน หรือผ่อนเริ่มต้นเพียง 15,000 บาทกว่าบาท (อย่างใดอย่างหนึ่ง) พร้อมคูปองน้ำมันมูลค่า 10,000 บาท ณ โชว์รูมมาสด้าทั่วประเทศ
สรุปยอดจำหน่ายรถยนต์มาสด้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เปรียบเทียบกับปี 2563
ข้อมูลการขายรถ | มกราคม – มิถุนายน 2564 (คัน) | มกราคม – มิถุนายน 2563
(คัน) |
เปลี่ยนแปลง
(%) |
Mazda2 | 9,622 | 9,342 | + 3 |
Mazda3 | 1,270 | 1,257 | + 1 |
Mazda CX-3 | 2,231 | 559 | + 299 |
Mazda CX-30 | 4,194 | 1,873 | + 124 |
Mazda CX-5 | 390 | 851 | – 54 |
Mazda CX-8 | 532 | 723 | – 26 |
Mazda BT-50 | 666 | 797 | – 16 |
Mazda MX-5 | 3 | 6 | – 50 |
ยอดรวม | 18,908 | 15,408 | + 23 |