หลังจากทำงานหนักกันมาทั้งปี พอถึงช่วงวันหยุดยาว หลายคนมีแผนเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว พาลูกไปทัศนศึกษาช่วงปิดเทอม หรือนัดเพื่อนฝูงไปเที่ยวพักผ่อนที่รีสอร์ทติดทะเล ซึ่งการเดินทางส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์เป็นหลัก ถ้าอยากให้การเดินทางไกลราบรื่น ปลอดภัย ไม่สะดุดเพราะปัญหารถเสียกลางทาง เราควรเตรียมตัวให้พร้อมโดยการตรวจเช็ครถก่อนเดินทางไกล มีจุดไหนที่ต้องเช็คบ้าง เรามีคำตอบ
8 จุดที่ควรเช็คสภาพรถเบื้องต้น ก่อนออกเดินทางไกล
การเช็คสภาพรถไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอย่างที่คิด คุณสามารถตรวจเช็คแบบคร่าวๆ ได้ด้วยตนเอง หากมีจุดไหนที่ไม่พร้อมหรือเกิดความผิดปกติ คุณจะได้รู้ล่วงหน้าก่อนที่มันจะลุกลามกลายไปเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้การเดินทางของคุณหมดสนุกและอาจต้องเสียเงินเสียทองไปกับการซ่อมครั้งใหญ่ สำหรับจุดที่ควรต้องเช็คเป็นพิเศษ มีดังนี้
1. แบตเตอรี่รถยนต์
แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการสตาร์ทเครื่องยนต์ มี 3 แบบ ได้แก่ แบบน้ำ แบบแห้ง และแบบกึ่งแห้ง ถ้าเป็นแบตเตอรี่แบบน้ำจะต้องเติมน้ำกลั่นและได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นประจำ เพราะเมื่อใช้ไปสักระยะ น้ำที่อยู่ภายในจะระเหยออกไป จึงต้องคอยเติมอยู่เสมอไม่ให้ขาดและอย่าเติมล้นเกินไป เพราะเมื่อน้ำเดือด กรดจะล้นออกมากัดขั้วหรือตัวถังรถได้
ถ้าเป็นแบตเตอรี่แบบแห้งไม่ต้องดูแลอะไรมาก แต่แบตเตอรี่แบบแห้งแท้ ๆ ราคาค่อนข้างสูงและอายุการใช้งานจะสั้นกว่าแบบน้ำ
แบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ แบตเตอรี่แบบกึ่งแห้ง ซึ่งจะต้องเติมน้ำกลั่นปีละ 1-2 ครั้ง หากเราละเลยไม่เติมน้ำกลั่นก็จะทำให้แบตเตอรี่เสียหายและรถสตาร์ทไม่ติด
ควรตรวจดูสภาพของแบตเตอรี่ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ หมั่นทำความสะอาดคราบขี้เกลือที่ขั้วแบตเตอรี่ ตรวจสอบความแน่นของขั้วและฉนวนหุ้มสาย เช็คระดับน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับที่กำหนดและเติมน้ำกลั่นให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และอย่าลืมเช็ควันหมดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่เพื่อให้แน่ใจว่ายังใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่ หมั่นสังเกตอาการ ถ้าเมื่อไหร่ที่เริ่มสตาร์ทติดยาก แบตเตอรี่อาจหมดอายุการใช้งาน (โดยทั่วไปมีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี) ให้เตรียมเปลี่ยนตัวใหม่ได้เลย
2. ล้อและยางรถยนต์
ล้อและยางรถยนต์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เป็นอีกจุดสำคัญที่ไม่ควรพลาด เพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนหนึ่งเกิดจากยางระเบิดขณะขับขี่ ดังนั้น สิ่งที่ควรเช็ค คือ ความดันลมยาง รอยแตกของยาง และความลึกของดอกยาง
ยางทั้ง 4 ล้อ รวมทั้งยางอะไหล่ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่รั่วซึม ไม่มีรอยแตก มีดอกยางเพียงพอ ส่วนล้อก็ควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่บิดเบี้ยว และที่สำคัญ ต้องเช็คให้แน่ใจว่ามีการขันน็อตล้อจนแน่นหรือไม่
วิธีเช็คลมยางรถยนต์ ให้เคาะยางดูว่าลมยางอ่อนหรือไม่ ลมยางของแต่ละล้อควรอยู่ในปริมาณที่พอดีตามที่คู่มือประจำรถกำหนด ถ้ามีล้อไหนลมหายไปเยอะผิดปกติกว่าเส้นอื่น ควรรีบหาสาเหตุและถ้ายางรั่วควรนำไปปะทันที ถ้าจะให้ดีควรเติมลมเพิ่มอีกสักหน่อยก่อนออกเดินทาง โดยเลือกปริมาณลมตามมาตรฐานของยางที่ใช้ คุณสามารถวัดปริมาณลมยางได้โดยใช้มาตรวัดลมยางที่มีให้บริการตามปั๊มน้ำมัน หรือจะซื้อหามาไว้ใช้เอง ปัจจุบันก็มีขายทั่วไปแล้วและราคาไม่แพง
เช็คหน้ายางว่ามีรอยฉีกขาดหรือรอยแตกหรือไม่ และมีดอกยางเหลือมากน้อยแค่ไหน ถ้าหน้ายางมีรอยแตกมากหรือมีดอกยางเหลือน้อย สภาพยางไม่ไหวแล้ว แนะนำให้คุณเปลี่ยนยางเส้นใหม่
3. น้ำมันเบรกและระบบเบรก
ระบบเบรกเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการขับขี่ทางไกล ถ้าเบรกมีสภาพไม่สมบูรณ์อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ควรสังเกตผ้าเบรกและเสียงเบรกว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติหรือไม่ วิธีเช็ค คือ เหยียบเบรก แล้วฟังว่ามีเสียงดังผิดปกติหรือไม่ หากมี แสดงว่าผ้าเบรกอาจมีปัญหา ควรเข้าอู่ให้ช่างแก้ไขโดยด่วน
ในส่วนของน้ำมันเบรก ซึ่งมีระดับอยู่ระหว่าง Min กับ Max ถ้าในระดับปกติต้องไม่เกิน Max และไม่ต่ำกว่า Min แต่ถ้าเห็นว่าน้ำมันเบรกพร่องหายไป ควรรีบหาสาเหตุความผิดปกตินั้นทันที หรือนำรถไปให้ช่างผู้ชำนาญเช็คสภาพรถและแก้ไขทันที เพราะในความเป็นจริง ระบบเบรกเป็นระบบปิด น้ำมันเบรกจะไม่สามารถระเหยออกไปได้เอง เว้นแต่กรณีผ้าเบรกสึกหรือมีจุดรั่วไหล
4. ช่วงล่าง
การตรวจสอบช่วงล่างของรถยนต์เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะต้องมีเครื่องมือและอาศัยความชำนาญด้านช่างยนต์เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีสุดสำหรับการตรวจเช็คช่วงล่างรถยนต์ด้วยตัวเองทำได้โดยสังเกตจากอาการที่บ่งบอกว่าช่วงล่างกำลังมีปัญหา ดังนี้
- การออกตัวรถและกำลังหยุดรถ ทั้งเดินหน้าและถอยหลัง ถ้ามีเสียงดังกึกกักเบาๆ แสดงว่าบูชปีกนกอาจจะมีปัญหา
- เมื่อทดลองขับขี่บนถนนขรุขระจะมีเสียงดังกุกกัก แสดงว่าลูกหมากปีกนกอาจจะมีปัญหา
- เมื่อลองขับขี่บนถนนขรุขระแล้วรถสะเทือนขึ้นมาจนถึงพวงมาลัย แสดงว่าลูกหมากแร๊คอาจจะมีปัญหา หรือถ้าลูกหมากแร๊คแน่นอยู่แล้ว ยางรัดแร๊คอาจจะมีปัญหา
- เมื่อลองขับขี่บนถนนเรียบทางตรงแล้วพวงมาลัยมีอาการเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่าบูชปีกนกอาจจะมีปัญหา
- เมื่อลองขับขี่ในทางตรง แต่รู้สึกได้ว่าล้อไม่ตรงและไม่สามารถควบคุมให้รถนิ่งได้ แสดงว่าลูกหมากแร๊คอาจจะมีปัญหา
- เมื่อลองขับขี่บนถนนขรุขระแล้วพวงมาลัยดึงและหลวม มีเสียงดังกุกกัก แสดงว่าลูกหมากคันชักอาจจะมีปัญหา
- โช๊คก็เช่นเดียวกัน ตรวจเช็คคราบน้ำมันบริเวณแกนโช๊คว่ารั่วหรือไม่ เพราะระบบช่วงล่างทั้งหมดมีผลต่อการทรงตัวขณะขับขี่
อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณความผิดปกติที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบนำรถเข้าศูนย์หรืออู่ซ่อมรถเพื่อตรวจเช็คโดยด่วน อย่าฝืนใช้รถต่อไปเรื่อยๆ เพราะผลเสียหายจะไม่คุ้มกันเลย
5. น้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่องช่วยหล่อลื่นให้เครื่องยนต์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ น้ำมันเครื่องที่ดีจะต้องผ่านการใช้งานไม่เกินระยะทางที่คู่มือกำหนด ระดับน้ำมันเครื่องจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งคุณสามารถตรวจเช็คได้จากก้านวัดน้ำมันเครื่อง
ควรหมั่นตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องอย่างส่ำเสมอ ทำได้โดยจอดรถให้อยู่แนวราบ เปิดกระโปรงรถ มองหาก้านวัดระดับน้ำมันเครื่อง แล้วดึงก้านวัดขึ้นมา ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดน้ำมันเครื่องที่ติดอยู่บนก้านวัด เสียบก้านวัดคืนจุดเดิมแล้วดึงขึ้นมาเพื่อเช็คอีกครั้ง ให้สังเกตแถบน้ำมันเครื่องที่ติดอยู่บนก้านวัด ควรอยู่ระหว่างขีด F กับ L หรือ Max กับ Min แต่ถ้ามากหรือน้อยเกินไปควรเติมหรือลดน้ำมันเครื่องให้อยู่ในระดับปกติ
อย่าปล่อยให้น้ำมันเครื่องแห้งเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นเครื่องยนต์อาจพังได้ และอย่าลืม ก่อนออกเดินทางไกล ควรมีน้ำมันเครื่องสำรองติดรถไว้อย่างน้อย 1 ลิตร เผื่อได้ใช้ในยามฉุกเฉิน
6. น้ำมันเกียร์อัตโนมัติ น้ำมันคลัตช์ น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์
การเช็คสภาพรถในส่วนของน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ จอดรถบนทางราบและใส่เบรกมือ จากนั้นสตาร์ทเครื่องยนต์แล้วเปลี่ยนเกียร์ ไล่ไปตั้งแต่ตำแหน่ง P จนถึง L หรือ 1 เมื่อเปลี่ยนเกียร์แต่ละตำแหน่งให้ค้างไว้ที่ตำแหน่งนั้นๆ สักครู่ แล้วจึงค่อยเลื่อนเปลี่ยนเกียร์ถัดไป เสร็จทุกเกียร์แล้วจึงเลื่อนมา P หรือ N ดึงก้านวัดระดับเกียร์อัตโนมัติออกมาแล้วเช็ดทำความสะอาดก่อน จากนั้นใส่ก้านวัดกลับเข้าไปแล้วดึงออกมาใหม่ คราวนี้สังเกตดูว่าระดับน้ำมันที่ติดออกมาอยู่ตรงตำแหน่งไหน ซึ่งถ้ายังอยู่ตรงH หรือ HOT แสดงว่าระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติปกติ
สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดา ให้สังเกตระดับ Min กับ Max โดยระดับน้ำมันคลัตช์ต้องอยู่ระหว่างกลาง ไม่มากไม่น้อยไปกว่าจุดที่กำหนด และถ้าเห็นว่าน้ำมันคลัตช์หายมากจนผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุหรือนำรถไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็คและแก้ไขทันที
ส่วนน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ มีวิธีเช็คแบบเดียวกัน คือ ดูระดับ Min กับ Max ซึ่งต้องไม่น้อยหรือเกินกว่าจุดที่กำหนด และถ้าระดับน้ำมันหายไปมากผิดปกติ ควรรีบตรวจหาสาเหตุหรือให้ช่างแก้ไขทันที
7. หม้อน้ำ ท่อยาง และระบบหล่อเย็น
ระบบระบายความร้อนถือเป็นหัวใจหลักอีกส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ เพราะถ้ามีความร้อนสะสมในขณะที่เครื่องยนต์ทำงาน บวกกับอุณหภูมิภายนอกที่ร้อน หากระบบระบายความร้อนไม่ดีหรือมีปัญหา อาจทำให้เครื่องยนต์น็อคได้
ดังนั้น คุณควรควรตรวจสอบระบบหล่อเย็นอยู่เสมอ เช็คระดับน้ำหล่อเย็นในหม้อพักและหม้อน้ำว่ายังมีน้ำอยู่ไหม เช็คว่าพัดลมหม้อน้ำและมอเตอร์ยังทำงานเป็นปกติหรือไม่ ตรวจสอบรอยรั่วของหม้อน้ำ ท่อยาง และข้อต่อต่างๆ หากตรวจพบว่ามีน้ำไหลซึม ควรรีบแก้ไขโดยด่วน
แนะนำให้ตรวจเช็คน้ำยาหล่อเย็นในหม้อน้ำในตอนเช้าๆ ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ หรือเช็คในตอนที่เครื่องยนต์ไม่มีความร้อนดีที่สุด ส่วนการสังเกตความผิดปกตินั้น ให้เปิดฝาหม้อน้ำหรือถังพักน้ำสำรอง ดูสีและสภาพว่ายังดูดีอยู่หรือไม่ ถ้าน้ำลดหายไป ควรเติมเข้าไปโดยใช้น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) หรือใช้น้ำเปล่าสะอาดผสมกันในอัตราส่วน 50:50 ลงในหม้อน้ำจนถึงขีด Max (เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) และถ้าพบว่าสภาพน้ำมีสีคล้ายสนิม ควรเปลี่ยนถ่ายทันที
รถบางรุ่นกำหนดระยะเวลาให้เติมน้ำยาหล่อเย็นทุกๆ 2 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร บางรุ่นกำหนดไว้ที่ 100,000-200,000 กิโลเมตร หากมีการเช็คตามระยะอยู่เสมอ ระบบหล่อเย็นก็จะไม่มีปัญหา
8. ระบบไฟส่องสว่าง
คุณจำเป็นต้องเช็คระบบไฟส่องสว่างและสัญญาณไฟต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะในตอนกลางคืนหรือเมื่อขับขี่ผ่านจุดที่มีแสงน้อย โดยควรตรวจเช็คระบบไฟทุกส่วน ทั้งไฟหน้าสูง-ต่ำ ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟเลี้ยว ไฟถอยหลัง ไฟตัดหมอก ไฟฉุกเฉิน ฯลฯ ต้องใช้งานได้ครบทุกจุด แสงต้องสว่างเต็มศักยภาพ ไม่มัว
วิธีเช็ค ให้ตรวจดูไฟส่องสว่างทุกดวงว่าอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติหรือไม่ หากจุดไหนไม่สว่างหรือติดๆ ดับๆ ควรรีบนำรถไปให้ช่างแก้ไข หรือหาหลอดใหม่เปลี่ยนเข้าไปแทน
ชิ้นส่วนที่ไม่ควรละเลย
นอกจาก 8 จุดสำคัญข้างต้น ไส้กรองอากาศรถยนต์ก็เป็นอีกส่วนที่ควรดูแลก่อนเดินทางไกล จะได้ไม่มีฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกผ่านเข้าไปในห้องเผาไหม้ คุณสามารถทำความสะอาดส่วนนี้ได้เอง ถ้าเป็นไส้กรองแบบแห้ง ให้ถอดมาเป่าไล่เศษฝุ่นออกให้หมด ถ้าเป็นแบบเปียก ให้นำไปล้างแล้วลงน้ำยาใหม่ หรือถ้าสกปรกมากและสภาพไม่ค่อยดีแล้ว ควรเปลี่ยนใหม่
ส่วนไส้กรองระบบปรับอากาศภายในรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้อากาศภายในรถยนต์สะอาด คุณจะได้หายใจโล่งปอดไปตลอดทาง ถ้าพบว่าสกปรกหรือเสื่อมสภาพ ควรถอดออกมาแล้วเปลี่ยนอันใหม่เข้าไป ไม่แนะนำให้ทำความสะอาดแล้วใช้ซ้ำ เพราะปัจจุบันไส้กรองชนิดนี้ราคาไม่แพงแล้ว
อย่าลืมเตรียมเครื่องมือประจำรถไว้ด้วย
เหตุฉุกเฉินเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง ดังนั้น คุณควรเตรียมเครื่องมือประจำรถไว้ให้พร้อม เช่น ล้อ-ยางอะไหล่ แม่แรง ชุดเครื่องมือในการถอดล้อ ที่เติมลมฉุกเฉิน สายพ่วงแบตเตอรี่ สายลากรถ ไฟฉาย แผ่นรองพื้นกันเปื้อน ผ้าเอนกประสงค์สำหรับเช็ดเบาะรถยนต์ (เผื่อว่ามีอะไรหกเลอะระหว่างทาง) ฯลฯ ซึ่งควรมีติดรถไว้ นอกจากจะช่วยให้คุณอุ่นใจยามเดินทางแล้ว บางครั้งยังได้แสดงน้ำใจช่วยเหลือรถคันอื่นที่ประสบปัญหาได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีดูแลรถยนต์ของคุณก่อนเดินทางไกล หากพบอะไรผิดปกติก็จงอย่ารีรอที่จะแก้ไข อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องที่ไม่มีความรู้ความชำนาญหรือไม่แน่ใจ ควรนำรถยนต์ไปเข้าศูนย์หรือให้อู่ซ่อมรถที่เชื่อถือได้ช่วยตรวจเช็คจะดีที่สุด
นอกจากนี้ ในช่วงวันหยุดยาว จะมีภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดตั้งจุดตรวจสภาพรถฟรีทั่วประเทศ คุณควรใช้โอกาสเช่นนี้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณเองและเพื่อนร่วมทางทุกๆ คน
ขอบคุณที่มาจาก cleanipedia
วิเคราะห์ เจาะลึก ทุกข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา กับผม นิธิ ท้วมประถม
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสาร ข่าวรถยนต์ รถใหม่ สกู๊ปพิเศษ ลองขับ อย่าลืมติดตามเรา ช่องยูทูป – auto lifethailand tv
ติดต่อโฆษณา
Project Manager (คุณแอม)
โทร. 089 533 5115
Email : autolifethailand@gmail.com
หรือ Inbox ได้ทาง Facebook Fanpage https://www.facebook.com/autolifethailand.tv